ไซแมนเทคเผยผลสำรวจ ชี้องค์กรปรับใช้โมบายล์แอพเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายไอทีมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างคุณประโยชน์และความเสี่ยง

พฤหัส ๒๑ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๑๐:๐๗
ไซแมนเทค คอร์ป (Nasdaq: SYMC) เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้ประจำปี 2554 (2012 State of Mobility Survey) ระบุว่าทั่วโลกก้าวสู่จุดสูงสุดในการปรับใช้อุปกรณ์โมบิลิตี้ ผลสำรวจนี้เน้นย้ำถึงการใช้งานโมบายล์แอพพลิเคชั่นอย่างกว้างขวางในองค์กรต่างๆ โดยอย่างน้อย 71 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรมีการหารือเกี่ยวกับการนำโมบายล์แอพพลิเคชั่นมาใช้ ขณะที่หนึ่งในสามกำลังดำเนินการติดตั้งหรือมีการใช้งานโมบายล์แอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าจะมีการนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า โมบิลิตี้ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายอย่างมาก และ 41 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าอุปกรณ์พกพาเป็นหนึ่งในสามความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัญหาท้าทายที่ว่านี้ ฝ่ายไอทีพยายามสร้างสมดุลระหว่างคุณประโยชน์และความเสี่ยงที่เกิดจากอุปกรณ์พกพา ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสู่ระบบโมบิลิตี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และขยายขีดความสามารถของบุคลากร

คลิกเพื่อทวีต: 71% ขององค์กร กำลังใช้หรือมีแผนที่จะใช้โมบายล์แอพพลิเคชั่นที่ปรับแต่งเป็นพิเศษ: http://bit.ly/xUEG5F

“ความรวดเร็วในการปรับใช้โมบายล์แอพพลิเคชั่นภายในองค์กรก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนและปัญหาท้าทายใหม่ๆ สำหรับบุคลากรฝ่ายไอที ปัจจุบัน พนักงานนิยมนำอุปกรณ์ของตนเองเข้ามาใช้งานในที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น (Bring Your Own Device - BYOD) ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณากลยุทธ์ที่กำหนดวัฒนธรรมโมบายล์ภายในองค์กร และที่สำคัญก็คือ จะต้องสอดรับกับแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน” นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ไซแมนเทค (ประเทศไทย) จำกัด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบล็อกโพสต์:

บล็อกเกี่ยวกับโมบิลิตี้และปัญหาท้าทายที่เพิ่มขึ้น(Mobility: Rising to the Challenge)

บล็อกเกี่ยวกับโมบิลิตี้ในภาคธุรกิจปัจจุบัน(Mobility in Business Today)

แบบสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้เปิดเผยถึงปัญหาท้าทายที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญในการปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ รวมทั้งระบุและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับโมบิลิตี้ตามความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายไอที ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ กว่า 6,000 องค์กรจาก 43 ประเทศร่วมกันให้ความกระจ่างเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไปในส่วนของอุปกรณ์พกพาและโมบายล์แอพพลิเคชั่น

อุปกรณ์พกพากลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจ

การนำโมบายล์แอพพลิเคชั่นมาใช้เพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความเชื่อมั่นอย่างมากในคุณประโยชน์ของ โมบิลิตี้ โดยมีความสอดคล้องกันระหว่างความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง โดยทั่วไปแล้ว คุณประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มักจะเกินกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ดี สำหรับสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตที่ใช้งานในปัจจุบัน พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่พนักงาน แต่ปรากฏว่า 77 เปอร์เซ็นต์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงภายหลังการใช้งานจริง นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 59 เปอร์เซ็นต์กำลังใช้อุปกรณ์พกพาสำหรับแอพพลิเคชั่นทางด้านธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งบอกว่าโมบิลิตี้ได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวาง

ระบบโมบายล์ช่วยปรับปรุงทรัพยากรไอที

เช่นเดียวกับการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่อื่นๆ โมบิลิตี้ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายอย่างมากต่อฝ่ายไอที โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (48 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า โมบิลิตี้มีลักษณะท้าทายอย่างมาก ขณะที่สองในสามกล่าวว่าการลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากซับซ้อนเป็นหนึ่งในเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุด ในมุมมองของไซแมนเทค ระดับปัญหาที่เพิ่มขึ้นนี้บ่งชี้ถึงการพัฒนาจากโครงการนำร่องขนาดเล็กไปสู่การปรับใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งนโยบายการใช้งานมักถูกหลบเลี่ยงและมีการกำหนดข้อยกเว้น การปรับใช้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งองค์กรส่งผลให้เกิดปัญหายุ่งยากซับซ้อน ทั้งยังแสดงให้เห็นว่ามีการปรับใช้มากมายที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบและกระบวนการที่มีอยู่ภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับใช้เทคโนโลยีในขอบเขตที่กว้างขวางและความซ้ำซ้อนของทรัพยากร

ความเสี่ยงของโมบิลิตี้ส่งผลกระทบต่อองค์กร

การปรับใช้ระบบโมบายล์ย่อมจะมีความเสี่ยง และฝ่ายไอทีก็ตระหนักถึงปัญหาท้าทายที่ว่านี้ ทั้งนี้ ราวสามในสี่ขององค์กรระบุว่าการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงถือเป็นเป้าหมายธุรกิจที่สำคัญสำหรับระบบโมบิลิตี้ และ 41 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าอุปกรณ์พกพาเป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางด้านไอทีที่สำคัญที่สุด โดยปัญหามีมากมายหลากหลาย เช่น อุปกรณ์สูญหายหรือถูกโจรกรรม ข้อมูลรั่วไหล การเข้าถึงทรัพยากรขององค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาต และการแพร่กระจายของมัลแวร์จากอุปกรณ์พกพาไปสู่เครือข่ายของบริษัท ปัจจุบันอุปกรณ์พกพารองรับกระบวนการธุรกิจและข้อมูลสำคัญๆ ดังนั้นปัญหาด้านความปลอดภัยจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีสำหรับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับองค์กร เช่น ข้อมูลสูญหาย ความเสียหายต่อชื่อเสียง การสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และการสูญเสียความเชื่อมั่นของลูกค้า มีมูลค่าสูงถึง 429,000 ดอลลาร์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ส่วนมูลค่าความเสียหายสำหรับองค์กรขนาดเล็กอยู่ที่ 126,000 ดอลลาร์

คำแนะนำ

องค์กรที่ตัดสินใจปรับใช้ระบบโมบิลิตี้ โดยไม่บั่นทอนระบบรักษาความปลอดภัย จะสามารถปรับปรุงระบบงานธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้ องค์กรต่างๆ จึงควรพัฒนากลยุทธ์โมบายล์ที่กำหนดวัฒนธรรมเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์พกพา โดยสอดคล้องกับแนวทางการบริหารความเสี่ยงขององค์กร

คำแนะนำที่สำคัญบางประการ ได้แก่:

ขยายขีดความสามารถ: โมบิลิตี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่องค์กรทุกขนาดได้อย่างเป็นรูปธรรม คุณควรจะสำรวจตรวจสอบว่าองค์กรของคุณสามารถใช้ประโยชน์จากโมบิลิตี้ในแง่มุมใดได้บ้าง แล้วกำหนดแนวทางที่แบ่งเป็นระยะๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนแผนงานของคุณ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีโมบายล์ ควรจะวางแผนสำหรับโมบายล์แอพพลิเคชั่นสำหรับส่วนงานธุรกิจที่รองรับการใช้งานทั่วไป กล่าวคือ พนักงานควรจะใช้อุปกรณ์พกพาเพื่อธุรกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไตร่ตรองในเชิงกลยุทธ์: ดำเนินการประเมินผลในลักษณะที่สอดรับกับความเป็นจริงเกี่ยวกับแผนงานธุรกิจโมบายล์ของคุณ รวมถึงผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของคุณ ลองคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับขอบเขตการใช้งานที่กว้างขวางกว่าเรื่องของอีเมล และสำรวจโอกาสความเป็นไปได้ทั้งหมดสำหรับการปรับใช้ระบบโมบายล์ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและภัยคุกคามที่จะต้องป้องกัน ในขั้นตอนการวางแผน ให้ปรับใช้แนวทางที่ครอบคลุมหลายๆ สายงานสำหรับการปกป้องข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าในท้ายที่สุดแล้วข้อมูลนั้นจะไปจบลงที่ใด

บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ: อุปกรณ์พกพาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่าย ดังนั้นจึงต้องการความใส่ใจเท่ากับพีซีทั่วไป นอกจากนี้ แพลตฟอร์มโมบายล์ยังสามารถใช้กระบวนการ นโยบาย ข้อมูลความรู้ และเทคโนโลยีแบบเดียวกับเดสก์ท็อปและแลปท็อป ดังนั้นจึงควรผนวกรวมการจัดการอุปกรณ์โมบายล์เข้ากับกรอบโครงสร้างการจัดการไอทีโดยรวม และควบคุมดูแลในลักษณะเดียวกัน โดยใช้โซลูชั่นและนโยบายแบบครบวงจรที่เข้ากันได้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการดูแลรักษาระบบ

บังคับใช้อย่างเหมาะสม: ปัจจุบันพนักงานเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนบุคคลเข้ากับเครือข่ายองค์กรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นองค์กรจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการใช้งานเพื่อรองรับทั้งอุปกรณ์ของบริษัทและอุปกรณ์ส่วนบุคคล มาตรการด้านการจัดการและการรักษาความปลอดภัยอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าอุปกรณ์นั้นเป็นของใคร รวมถึงการควบคุมที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดขององค์กร พนักงานจะยังคงเพิ่มอุปกรณ์ในเครือข่ายองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน โดยจะต้องวางแผนอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งในแง่ของกฎระเบียบ การปฏิบัติงาน และวัฒนธรรม

คุ้มครองอย่างครบวงจร: ปรับใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่าการใช้รหัสผ่านพื้นฐาน การลบข้อมูล และนโยบายปิดกั้นแอพพลิเคชั่น คุณควรมุ่งเน้นที่ข้อมูล รวมถึงจุดที่มีการเรียกดู รับส่ง และจัดเก็บข้อมูล การผนวกรวมนโยบายที่มีอยู่ในส่วนของการป้องกันข้อมูลสูญหาย การเข้ารหัสข้อมูล และการตรวจสอบความถูกต้อง จะช่วยรองรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดขององค์กรอย่างครบถ้วน

แบบสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้ประจำปี 2555 ของไซแมนเทค

แบบสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้ประจำปี 2555 ของไซแมนเทค ดำเนินการโดย Applied Research ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2554 ผลลัพธ์ของการสำรวจอ้างอิงข้อมูลจาก 6,275 องค์กรใน 43 ประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ, EMEA (ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา), เอเชียแปซิฟิก, ญี่ปุ่นและละตินอเมริกา สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก เราได้พูดคุยกับบุคคลที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับไอที ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ เราได้ติดต่อผู้บริหารฝ่ายไอทีและผู้บริหารระดับสูงสุด ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ของแบบสำรวจนี้ อุปกรณ์พกพาหมายถึงอุปกรณ์มือถือ เช่น สมาร์ทโฟน, แบล็คเบอร์รี่, ไอโฟน, แอนดรอยด์, ไอทัชและอุปกรณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน อุปกรณ์พกพาไม่ได้หมายรวมถึงคอมพิวเตอร์แลปท็อป

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

รายงานแบบสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้

Infographic: องค์กรต่างๆ ปรับใช้อุปกรณ์พกพาอย่างกว้างขวาง

พรีเซนเทชั่น SlideShare: ผลการสำรวจเกี่ยวกับสถานะของโมบิลิตี้ทั่วโลก

บล็อก Mobility: Rising to the Challenge

บล็อก Mobility in Business Today

ชุดเอกสารสำหรับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการสำรวจสถานะของโมบิลิตี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ