1. อาการทางผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุด เช่น เป็นลมพิษ มีผื่น รู้สึกคัน มีผิวหนังสากๆ หรือผิวหนังอาจบวมหรือนูนขึ้นมา และรู้สึกแสบร้อน
2. อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ หรือหอบ หากเป็นมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายขาดอากาศและหมดสติได้ คนไข้บางราย อาจมีอาการแพ้ที่แสดงออกทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการแพ้แบบแอบแฝง หรือ IgG (Immunoglobin G) ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับแม็สเซลล์ แต่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับการที่อาหารที่แพ้บ่อยๆ ทำให้ร่างกายสร้าง IgG อยู่อย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่เม็ดเลือดขาวจะต้านทานไว้ได้ ทำให้เกิดกระบวนการที่ไปกระตุ้นให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง เกิดความไม่สมดุล ทำให้เจ็บออด ๆ แอด ๆ อาจพบผู้ที่เกิดอาการแพ้ชนิดนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง หวัดเรื้อรัง ไซนัสเรื้อรัง เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการของร่างกายคุณให้ดีค่ะ
อาการแพ้มักจะเกิดกับอาหารที่เคยสัมผัสมาแล้ว เพราะร่างกายคนเราจะสร้างสารต่อต้านหรือภูมิต้านทาน (Antibody) ที่เรียกว่า IgE (Immunoglobin E) ซึ่งเป็นอาการแพ้แบบเฉียบพลัน ในกรณีของการแพ้อาหาร เมื่อได้รับประทานอาหารชนิดที่แพ้นั้นอีกครั้ง อาหารจะไปกระตุ้นให้มีการสร้าง IgE ขึ้นมามาก และ IgE นี้ก็จะไปเกาะบนผิวของแม็สเซลล์ (Mast cell) ซึ่งเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ที่อยู่ตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ขนานกับหลอดเลือด ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่าง “ฮีสตามีน” (Histamine) ขึ้นมา พูดง่าย ๆ ก็คือ ร่างกายจะสร้างสารต่อต้านก็ต่อเมื่อเคยรู้จักกับสารนั้นๆ มาแล้ว ถ้ามีการหลั่งของฮีสตามีนบริเวณใด ก็จะมีอาการคันหรือบวมที่ตรงนั้น เช่น ที่ปาก คอ ก็จะทำให้หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบาก
ไม่มีใครรู้อาการเจ็บป่วยของเราได้ดีกว่าตัวเราเองหรอกนะคะ ลองสังเกตดูว่า คุณมีอาการแพ้เมื่อได้รับประทานอาหารชนิดใด อาหารบางอย่าง อาจมีส่วนประกอบหรือส่วนผสมที่คุณแพ้ เช่น ขนมปังก็มีทั้งข้าวสาลี ไข่ นม เนย คุณอาจแพ้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างก็ได้ หากไม่ทราบก็ลองไปค้นหาดูสูตรเครื่องปรุงของเมนูจานต่าง ๆ เรามาดูอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้กันดีกว่าค่ะ อาหารที่มักแพ้ เช่น
1. อาหารจำพวกพืช ที่มักพบ เช่น งา ถั่ว ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสง เฮเซลนัท ถั่วเหลือง บางคนอาจแพ้กลูเต็นซึ่งเป็นเส้นใยโปรตีนที่อยู่ในพืชอย่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ พืชที่หมักดอง เช่น ผักดอง หน่อไม้ดอง หรือผงชูรส ซึ่งผลิตมาจากมันสำปะหลังหรืออ้อย
2. อาหารโปรตีน เช่น ไข่ขาว ไข่แดง นม เนื้อวัว เนื้อไก่ แต่พบอาการแพ้น้อยมากในเนื้อหมูและปลาน้ำจืด
3. อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู
หากคุณคิดว่าคุณแพ้อาหารใด ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารนั้น บางคนคิดว่าถ้าแพ้อาหารอะไร ก็ให้กินอาหารนั้นไปเยอะ ๆ ร่างกายจะได้สร้างภูมิ อันนี้ไม่จริงนะคะ และก็เป็นอันตรายมากด้วย เพราะอาการแพ้อาหารหากมีอาการมาก สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อย่างบางคนตอนเด็ก ๆ ไม่แพ้ แต่โตขึ้นแล้วแพ้ อันนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกันค่ะ มีคนไข้บางคนที่เป็นประเภทระมัดระวังเกินไป คิดว่าตัวเองแพ้ กลัวไปหมดทุกอย่าง ซึ่งอาจทำให้หมดโอกาสลิ้มลองอาหารอร่อยบางอย่างไปตลอด กลายเป็นหมดความสุขในการใช้ชีวิตไปเลย เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ เราควรศึกษาพฤติกรรมหลังรับประทานและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา รวมถึงการเลือกรับประทานให้เหมาะสมกับตนเอง หรือหมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้วิธีป้องกันสำหรับตัวเราไว้เบื้องต้น สำหรับสุขภาพร่างกายและผิวพรรณที่ดีในระยะยาวนะคะ”