รศ.ดร. คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีความสนพระทัยในด้านการดนตรีทุกประเภท โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก ก่อนเสด็จทอดพระเนตรและฟังดนตรีคลาสสิก จะทรงศึกษาเนื้อหาประวัติของผู้เขียน ผู้แต่ง และการนำเสนออย่างละเอียด นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทรงมีพระอุปถัมภ์ทุนนักเรียนดนตรีคลาสสิกของไทยไปศึกษาและฝึกอบรมเรื่องดนตรีคลาสสิกในสถาบันการศึกษาชั้นสูงในต่างประเทศอยู่เนืองๆ และเพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการดนตรีคลาสสิกในฐานะ “พระอุปถัมภ์แห่งดนตรีคลาสสิกไทย” สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จึงได้ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ จัดการแสดงดนตรีคลาสสิก “REQUIEM FOR THE MOTHER OF SONGS” ร่วมด้วยนักร้องประสานเสียงและนักดนตรีจากทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่นักดนตรีชาวไทยและต่างประเทศจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ทางดนตรีบนเวทีระดับโลกร่วมกันเพื่อสืบทอดพระปณิธานที่จะส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในประเทศให้พัฒนาต่อไป”
นางวิไล วิทยานารถไพศาล รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงทราบว่าประเทศไทยมีนักดนตรีคลาสสิกที่มีฝีมืออยู่จำนวนไม่น้อยและขณะนี้มีเยาวชนไทยที่สนใจดนตรีคลาสสิกเพิ่มมากขึ้น จึงทรงประทานแนวพระดำริเกี่ยวกับงานส่งเสริมการแสดงดนตรีคลาสสิกไว้ ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินงานสืบสานอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีภารกิจในการส่งเสริมด้านการเรียนการสอนดนตรีคลาสสิก ด้านการจัดประกวดแข่งขัน รวมถึงการให้การสนับสนุนการจัดงานแสดงดนตรีคลาสสิกของสมาคมและองค์กรการกุศลต่างๆ มาโดยตลอด กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดงานแสดงคอนเสิร์ต “REQUIEM FOR THE MOTHER OF SONGS” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่นักดนตรีชาวไทยจะแสดงทักษะทางด้านดนตรีที่โดดเด่นให้เป็นที่ประจักษ์ของนานาประเทศ”
ไมสโตร สมเถา สุจริตกุล ศิลปาธรกิตติคุณ มูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ กล่าวว่า “REQUIEM FOR THE MOTHER OF SONGS” ได้ใช้ความรู้ประสบการณ์ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาทั้งชีวิตเพื่อประพันธ์ผลงานนี้ขึ้นมา ใช้เวลา 3 ปี ถือเป็นผลงานสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยรังสรรค์มา มีความยาว 75 นาที เป็นการผสมผสานของนักร้องและนักดนตรีจากหลายประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย คณะนักร้องประสานเสียงกว่า 10 คณะ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนอีก 2 คณะ นักร้องเดี่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีก 7 คน จากประเทศไทย เม็กซิโก อังกฤษ สเปน และญี่ปุ่น วงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ 3 วง นักดนตรีกว่า 100 คน เครื่องดนตรีไทยเดิม วงโยธวาทิต รวมทั้งหมดกว่า 500 คน จาก 5 ทวีป ที่สะท้อนถึงความรู้สึกของนักดนตรีคลาสสิกที่มีความรักและความอาลัยต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยหวังว่าการแสดงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยจุดประกายให้เยาวชนและประชาชนคนไทยทุกคน เห็นคุณค่าของดนตรีคลาสสิกและสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สืบไป”
คอนเสิร์ต “REQUIEM FOR THE MOTHER OF SONGS” จะเปิดให้ชมการแสดงฟรี ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 24-25 กรกฎาคม 2555 เวลา 20.00 - 21.30 น. ประตูเปิดเวลา 19.30 น. สามารถติดต่อขอรับบัตรฟรีผ่านทาง www.galyanirequiem.com หรือ โทรศัพท์ 02-158-9292
REQUIEM (เรเควียม) เป็นบทเพลงสวดที่ใช้ในพิธีทางศาสนาคริสต์ เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อบุคคลสำคัญที่ล่วงลับไปแล้ว บทเพลง REQUIEM เป็นเพลงดนตรีคลาสสิกที่มีความยิ่งใหญ่ มีบทร้องเป็นภาษาละตินที่ผสมผสานดนตรีหลายแบบ ปัจจุบันใช้แสดงเพื่อการฟังในคอนเสิร์ตมากกว่าพิธีทางศาสนา สำหรับบทเพลง REQUIEM ที่มีชื่อเสียง อาทิ ผลงานของโมซาร์ท บราห์มส์ และแวร์ดี แต่บทเพลง REQUIEM ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ประพันธ์โดยคีตกวีที่เป็นที่รู้จักอย่างมากอีกท่าน คือ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์