เรามารู้จักวัฏจักรชีวิตของเส้นผมก่อนนะครับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะ อะนาเจน (Anagen Phase) คือ ช่วงที่ผมเจริญเติบโต เด็ก ๆ จะมีระยะอะนาเจนนานประมาณ 7 ปี ซึ่งนานกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งอายุมาก ระยะอะนาเจนก็จะน้อยลง ทำให้ผมงอกช้าลงกว่าเดิมครับ
- ระยะ คะทาเจน (Catagen Phase) คือ ระยะที่ผมหยุดงอก เส้นผมขาดอาหารมาเลี้ยง ทำให้ต่อมผมหดตัวเล็กลง และหยุดทำงาน มีระยะเวลานานประมาณ 1 สัปดาห์
- ระยะ เทโลเจน (Telogen Phase) คือ ระยะที่ผมหลุดร่วง โดยจะร่วงเป็นจำนวนประมาณ 10% จากต่อมผมทั้งหมด 80,000 — 1,200,000 ต่อม ต่อมผมแต่ละต่อมมีระยะไม่ตรงกัน ดังนั้นผมเราจึงไม่ร่วงพร้อมกันทั้งศีรษะ ซึ่งระยะนี้อาจกินเวลานาน 3 — 4 เดือน ดังนั้นการรักษาผมร่วงจึงใช้เวลานาน 3 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลครับ
อะไรในเราที่ทำให้เกิดผมร่วง
- อายุ อายุที่มากขึ้น ทำให้ระยะอะนาเจนมีน้อยลง ผมจึงขึ้นช้าลง ผู้ใหญ่อาจมีระยะนี้ 5 ปี คนสูงอายุอาจลดลงเหลือ 3 ปี ถ้าผมร่วงมาก ๆ ผมใหม่ ๆ ก็อางอกขึ้นมาไม่ทัน ทำให้ผมบางได้ครับ
- กรรมพันธุ์ เป็นตัวกำหนดสีและลักษณะของเส้นผม เช่น ผมทอง ผมดำ ผมหยิก ผมตรง กรรมพันธุ์ยังเป็นตัวกำหนดจำนวนของต่อมผม คนที่ผมหนามากอาจมีต่อมผมถึง 1,500,000 ต่อม ดังนั้น ถ้าบรรพบุรุษของคุณมีผมน้อยหรือศีรษะล้าน ก็เตรียมใจไว้ได้เลยครับ
- ฮอร์โมน ฮอร์โมนเป็นสาเหตุหลักในคนส่วนมากที่ผมร่วงครับ โดยฮอร์โมนเพศชายหรือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นตัวต้นเหตุ ฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกความเป็นชายที่ทำให้เสียงห้าว มีหนวดเครา แต่ถ้ามีมากไปอาจส่งผลต่อผมของคุณได้ครับ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผมร่วงส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ และฮอร์โมนครับ เรียกว่า แอนโดรเจนิค อะโลพีเซีย (Androgenic alopecia ) ซึ่งเริ่มจากผมค่อย ๆ ร่วง คุณภาพของเส้นผมต่ำลง ผมเริ่มเส้นเล็กบาง หนังศีรษะมัน ผมขึ้นยาก ขึ้นช้า หรือไม่ขึ้นอีกเลย ศีรษะที่ล้านเพราะสาเหตุนี้ จะมีลักษณะเฉพาะเป็น Pattern baldnessคือ มีการหลุดร่วงที่แน่นอน ในผู้ชายเรียกว่า Male Pattern Hair Loss ( MPHL) และในผู้หญิงเรียกว่า Female Pattern Hair Loss ซึ่งนอกจากจากพิจารณาจากผมของพ่อแม่คุณแล้ว คุณก็สามารถสังเกตุได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้การตรวจสภาพหนังศีรษะหรือวิเคราะห์เส้นผมแต่ประการใดครับ เริ่มจากแนวผมร่นจากด้านหน้าเข้าไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหัวเถิก หัวไข่ดาว หรืออื่น ๆ
ฮอร์โมนดีเอชที (DHT — Dihydrotestosterone) บริเวณใต้สมองหรือฐานของกะโหลกศีรษะด้านซ้ายบริเวณขมับของเรามีต่อมใต้สมองที่เรียกว่า ต่อมพิทูอิทารี่ (Pituitary Gland) มีลักษณะกลมขนาดเท่าถั่วดำ เป็นต่อมที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ อย่างต่อมเพศชาย ซึ่งก็คือ อัณฑะและต่อมหมวกไต เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ลูกอัณฑะและต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพื่อแสดงความเป็นชาย โดยฮอร์โมนนี้จะเข้าสู่กระแสเลือดและไหลเวียนไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งหนังศีรษะ หากมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากไป ฮอร์โมนนี้จะถูกเอนไซม์ 5- alpha reductase เปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนดีเอชที (DHT - Dihydrotestosterone) ซึ่งจะไปจะจับกับเซลล์สร้างเส้นผมทำให้เซลล์ต่อมผมฝ่อตัว ผมค่อย ๆ หลุดร่วง และออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นผมปกติ ทำให้เส้นผมใหม่ที่ขึ้นมาแทนเส้นเดิมที่ร่วงไปมีขนาดเล็กลง ๆ ผมน้อยลงเรื่อย ๆ และผมขึ้นช้ากว่าเดิมด้วยครับ”