นายไพระพงศ์ กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ สภาพแวดล้อมป่าชายเลน ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและสัตว์บก รวมถึงชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยดำเนินการร่วมกับชุมชน องค์กรภาครัฐ-เอกชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ จากเดิมที่ปลูกในหลายพื้นที่ ต่อมามีหลักเกณฑ์ให้การสนับสนุนการปลูกป่าชายเลน ที่เป็นโครงการต่อเนื่องพื้นที่เดียวกัน 5-10 ปี เพื่อให้เกิดผืนป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการอนุรักษ์ฯ พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน
ผศ. ดร. จารุทัศน์ สันติสิริสมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเสริมว่า ซีพีเอฟให้การสนับสนุนกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ของนักศึกษาภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมฯ นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ส่วนพื้นที่ตำบลบางสระเก้านี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่1 (จันทบุรี) ที่เอื้อฟื้อสถานที่ปลูกฯ มาตั้งแต่ปี 2551 ในโครงการ “รักโลก รักษ์ป่าชายเลน” ภายใต้โครงการซีพีเอฟชวนคนไทยปลูกป่าชายเลน โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ปีละ 25 ไร่ รวม 100 ไร่ ซึ่งไม่เพียงการปลูกเพิ่มเท่านั้น ยังได้ร่วมกันดูแลรักษาด้วยการขูดเพรียงที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของไม้ชายเลน พร้อมปลูกซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายด้วย
ด้าน นายสมนึก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้า เปิดเผยว่า รู้สึกขอบคุณทุกความร่วมมือของผู้มีจิตอาสาทุกคนที่เดินทางมาร่วมกันปลูกป่าชายเลน พยายามสร้างผืนป่าให้กับชุมชนมาหลายปี ที่ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องและสามารถพลิกฟื้นให้กลับมาสมบูรณ์และมอบให้กับชุมชนได้ในวันนี้ อยากให้ซีพีเอฟสนับสนุนโครงการปลูกป่าชายเลนเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะช่วยลดปัญหาโลกร้อน และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชนสังคม ประเทศชาติ