ก.ไอซีที เข้าร่วมประชุมการใช้ประโยชน์อวกาศส่วนนอกโดยสันติ ครั้งที่ 55

อังคาร ๒๖ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๐๙:๑๑
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาคณะกรรมการว่าด้วยการใช้ประโยชน์อวกาศส่วนนอกโดยสันติ ครั้งที่ 55 (The 55th Session of General Assembly of The Committee on Peaceful Uses Outer Space) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้ประโยชน์อวกาศส่วนนอกโดยสันติ (COPUOS) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ ที่มีบทบาทสำคัญทางด้านกิจการอวกาศทุกสาขา ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านการกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ การสำรวจทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และด้านกฎหมายอวกาศ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก เมื่อปี 2547 โดยปัจจุบัน COPUOS มีจำนวนสมาชิก 71 ประเทศ และมีประเทศในกลุ่มอาเซียนร่วมเป็นสมาชิก 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สำหรับการประชุมฯ ครั้งนี้ กระทรวงไอซีที ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อรายงานกิจกรรมการใช้ประโยชน์อวกาศ ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. โครงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม SMMS (Small Multi-Mission Satellite) ซึ่งกระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำข้อมูลดาวเทียม SMMS มาใช้เพื่อการประมาณเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยได้นำร่องในโครงการพยากรณ์ผลผลิตข้าว ด้วยการใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับการตั้งแปลงสังเกต ซึ่งการดำเนินงานจะมีการนำข้อมูลดาวเทียม SMMS มาใช้ในการวิเคราะห์เนื้อที่เพาะปลูกข้าว และค่าดัชนี พืชพรรณ (Vegetation Index : VI) เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าว และมีการวัดค่าการสะท้อนแสงจากเครื่องมือ Spectrometer ในทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ช่วงการเจริญเติบโตของข้าว ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ขึ้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้งบประมาณดำเนินการจัดสร้างสถานีจำนวน?60?ล้านบาท เพื่อนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม SMMS ที่เป็นภาพในเวลาจริง หรือ Real Time ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ภายใน 1 ชั่วโมง และยังทำให้สามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศได้อย่างชัดเจน จึงได้มีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเตือนภัยพิบัติ สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การคาดการณ์การเพาะปลูก การเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมก่อนและหลัง การคาดคะเนผลผลิตทางการเกษตร และการบุกรุกป่า

2. โครงการความร่วมมือภายใต้อนุสัญญา APSCO ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกขององค์การ APSCO ได้สนับสนุนกิจกรรมและโครงการความร่วมมือภายใต้อนุสัญญา APSCO มาโดยตลอด ซึ่งได้แก่ 1) Proposal for Spatial Data Sharing Service Platform and Its Application Pilot Project. 2) Proposal for APSCO Applied High Resolution Satellite Project. 3) Research on Atmospheric Effects on: Ka Band Rain Attenuation Modelling; and Ionospheric Modelling through Study of Radio Wave Propagation and Solar Activity. 4) Development of Asia-Pacific Ground Based Optical Satellite Observation System (APOSOS). 5) Feasibility Study of the Applications of Compatible Navigation Terminal System. และ 6) Education and Training in the Applications of Satellite Remote Sensing Data, in particular from HJ-1 (SMMS) and Thailand Earth Observation Satellite (THEOS).

พร้อมกันนี้ ประเทศไทย ยังได้รับเกียรติจากที่ประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ให้เป็นแกนนำในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Research on Atmospheric Effects ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้โครงการดังกล่าว

3. โครงการดาวเทียมไทยคม 6 กระทรวงไอซีที ได้เห็นชอบให้ บมจ.ไทยคม ในฐานะผู้รับสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ดำเนินการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 5 โดยคาดว่าจะส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก ประมาณกลางปี 2556 ดาวเทียมดังกล่าวจะมีอายุการใช้งาน 15 ปี มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 4 ทวีป และใช้เป็นดาวเทียมสำหรับการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมตรงถึงที่พักอาศัย หรือ Direct-to-Home (DTH) และการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลความละเอียดสูง

โดยกิจกรรมการใช้ประโยชน์อวกาศดังกล่าว ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการในปี 2554 นั้น จะได้รับการรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจกรรมทางอวกาศของประเทศไทยต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ