เด็กไทยโชว์ฟอร์มเจ๋งทำคะแนนนำเป็นที่ 1 หุ่นยนต์กู้ภัยโลก ผ่านฉลุยเข้ารอบรองชนะเลิศ ตั้งเป้าคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 7 ให้ประเทศไทย

พุธ ๒๗ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๑๑:๓๗
เอสซีจี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สุดปลื้มใจเยาวชนไทยทีมสเตบิไลซ์ (Stabilize) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โชว์ฟอร์มเจ๋งทำคะแนนสูงสุดทิ้งห่างคู่แข่ง ผ่านฉลุยเข้ารอบรองชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World RoboCup 2012 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ตั้งเป้าคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 7 ให้ประเทศไทย

รายงานข่าวจากสนามแข่งขันหุ่นยนต์โลก World Robocup 2012 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2555 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ในการแข่งขันรอบคัดเลือกวันที่สองมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและมีผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าชมการแข่งขันจำนวนมาก โดยปีนี้มีผู้เข้าแข่งขันรวม 2,243 คน จำนวน 381 ทีมจาก 45 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมนี อังกฤษ อิหร่าน บราซิล โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และไทย ที่เข้าร่วมแข่งขันประชันเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ (RoboCup@Home) หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCup Soccer) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยเอสซีจีและสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ได้ส่ง 2 ทีมเยาวชนแชมป์หุ่นยนต์ประเทศไทยร่วมชิงชัยใน 2 ประเภทการแข่งขัน ได้แก่ ทีมสเตบิไลซ์ (Stabilize) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหานคร (แชมป์ประเทศไทย Thailand Rescue Robot Championship ปี 2554) เข้าแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย หรือ World Robocup Rescue และทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รองแชมป์ประเทศไทย Thailand Robot@Home Championship ปี 2554) เข้าแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ หรือ World Robocup Robot@Home

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า การแข่งขันปีนี้ทีมไทยมีความตั้งใจสูงมากในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีสมรรถนะสูงสุด และน้องๆ ทีมเยาวชนไทยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถเป็นอย่างดี ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย 2 วันแรก ทีมสเตบิไลซ์สามารถทำคะแนนสูงสุดทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเหนือชั้นผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศตามความคาดหมาย โดยในรอบคัดเลือกวันที่สองมีการแข่งขันทั้งหมด 2 รอบ และโจทย์ได้กำหนดให้หุ่นยนต์ทำภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยด้วยหุ่นยนต์บังคับมือ (Manual) 10 ราย และด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous) 5 ราย รอบเช้าหุ่นยนต์ของทีมไทยสามารถค้นพบผู้ประสบภัยได้เพียง 5 ราย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องระบบสัญญานสื่อสารไร้สาย (Wireless) แต่ในช่วงบ่ายสามารถทำผลงานได้ดีด้วยการค้นพบผู้ประสบภัยได้อีก 8 ราย รวมเป็น 13 ราย ได้คะแนนทั้งสิ้น 245 คะแนน เมื่อรวมกับวันแรกซึ่งได้คะแนนสูงสุด คือ 521 คะแนน ทำให้มีคะแนนรวมสองวันเป็น 931 คะแนน นำเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างจากทีม MRL ประเทศอิหร่าน ที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง คือ 876 คะแนน

ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหานคร นายพิทักษ์ โคสุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ กล่าวว่า “ผู้บังคับหุ่นจะต้องมีสติและสมาธิที่แน่วแน่ เพราะต้องทำภารกิจทั้งหมดให้ครบถ้วนแข่งกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่สำคัญต้องฝึกซ้อมสม่ำเสมอให้เกิดความชำนาญในการบังคับหุ่นยนต์ในสนามแข่งขันจริง ซึ่งจากการที่ได้มีโอกาสร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกในปีที่ผ่านมา ทำให้มีความมั่นใจและสามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาปรับใช้ในการแข่งขันปีนี้“

นายวรรณวุฒิ พินิจ ผู้บังคับหุ่นยนต์คนที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับหุ่นช่วงบ่าย กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและกดดัน เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสลงแข่งขันในสนามระดับโลก แต่จากการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่ และได้ซ้อมในสนามจริงจนเกิดความเชื่อมั่น จึงสามารถทำภารกิจได้ดีในวันนี้

สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ Robot@Home ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใช้เทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะขั้นสูง ปีนี้โจทย์การแข่งขันเพิ่มความซับซ้อนที่ท้าทายความสามารถมากยิ่งขึ้น การแข่งขันช่วงเช้าของวันที่สองได้กำหนดโจทย์ให้หุ่นยนต์ทำภารกิจแยกแยะสิ่งของภายในบ้านและจัดเก็บให้เหมาะสม ส่วนการแข่งขันช่วงบ่ายให้โจทย์อิสระในการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ ซึ่งทีมนิมโรแอทโฮม (NimbRo@Home) ประเทศเยอรมนี และทีมไรท์อีเกิ้ลแอทโฮม (WrightEagle@Home) ประเทศจีน สามารถทำคะแนนได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนทีมดงยาง ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะโลกเป็นปีแรก ประสบปัญหาเรื่องหุ่นยนต์ไม่ตอบสนองกับอุปกรณ์การแข่งขันของสนามในช่วงแรก แต่สามารถแสดงภารกิจใช้คำสั่งเสียงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่สนใจจากคณะกรรมการและทีมอื่นๆ จนทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาเป็นอันดับ 11 แต่พลาดโอกาสผ่านเข้ารอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด

นายกิตติคุณ จงเจริญ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าทีมดงยาง กล่าวว่าปีนี้เป็นปีแรกที่มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ซึ่งยอมรับว่าโจทย์การแข่งขันยากและท้าทายความสามารถ สร้างแรงกดดันให้กับสมาชิกในทีมเป็นอย่างมาก ประกอบกับทีมมีเวลาในการสร้างหุ่นยนต์เพียง 3 เดือน จึงขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถึงแม้จะพลาดโอกาสเข้ารอบ แต่ก็ได้รับประสบการณ์มากมาย ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของทีมและศึกษาจุดเด่นของทีมจากประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดพัฒนารุ่นน้องให้สามารถต่อยอดการสร้างหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะในปีต่อๆ ไป

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาพรวมของการแข่งขันในปีนี้ พบว่า ผู้เข้าแข่งขันมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากอุปสรรคด้านการเดินทางและขนส่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกมีความตื่นตัวสูงในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ (Robot@Home) มีการพัฒนาสมองกลขั้นสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนหุ่นยนต์กู้ภัยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการพัฒนาหุ่นยนต์ระดับเยาวชนในหลากหลายสาขา สำหรับจุดเด่นของหุ่นยนต์จากประเทศไทยคือ มีสมรรถนะในการเคลื่อนที่สูง แต่ควรพัฒนาเรื่องการสร้างโปรแกรมระบบแผนที่ และสมองกลขั้นสูงขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO