วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า บรรยากาศในวันที่สามของการแข่งขันหุ่นยนต์โลก World RoboCup 2012 ยังคงคึกคัก ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบรองชนะเลิศล้วนเป็นทีมที่มีความสามารถรอบด้านในการประชันเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยทีมสเตบิไลซ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สามารถฝ่าด่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 4 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ โดยทำภารกิจได้ดีในรอบแรก ด้วยการค้นหาผู้ประสบภัยจากหุ่นยนต์บังคับมือได้สูงสุด คือ 9 ราย และได้คะแนนเพิ่มเติมจากการพัฒนาระบบแผนที่ระบุพิกัดผู้ประสบภัยอีกด้วย แต่ในรอบสองทีมไทยมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงค้นหาผู้ประสบภัยได้เพียง 2 ราย ในขณะที่คู่แข่งทีม MRL จากประเทศอิหร่าน ค้นหาผู้ประสบภัยในรอบแรกได้ 7 ราย จากหุ่นยนต์บังคับมือ 5 ราย และจากหุ่นยนต์อัตโนมัติ 2 ราย แต่ในรอบสองทีม MRL อิหร่านมีปัญหาหุ่นยนต์บังคับมือเสียหาย จึงค้นหาผู้ประสบภัยจากหุ่นยนต์อัตโนมัติได้เพียง 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีทีมม้ามืด ทีม YRA จากอิหร่าน ซึ่งทำคะแนนในรอบนี้ได้ดี สามารถค้นหาผู้ประสบภัยในรอบแรกได้ 6 ราย รอบสองอีก 6 ราย
สำหรับ 4 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ ทีม MRL จากอิหร่าน ได้ 416 คะแนน ทีม YRA จากอิหร่าน ได้ 395 คะแนน ทีมสเตบิไลซ์ จากประเทศไทย ได้ 375 คะแนน และทีมเฮกเตอร์ ดามสตัท จากเยอรมนี ได้ 371 คะแนน
พิทักษ์ โคสุวรรณ์ ผู้บังคับหุ่นยนต์ ทีมสเตบิไลซ์ กล่าวว่า “การแข่งขันช่วงเช้าเป็นไปด้วยดี เราได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำระบบแผนที่กับทีมเยอรมัน จึงสามารถพัฒนาระบบแผนที่ระบุพิกัดผู้ประสบภัยได้ทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้น ส่วนการแข่งขันช่วงบ่ายมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนหุ่นยนต์ที่ใช้ในระหว่างการแข่งขัน สำหรับรอบชิงชนะเลิศ พวกเราจะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อป้องกันแชมป์สมัยที่ 7 ให้กับประเทศไทย“
สุวัฒน์ จิราพันธุ์ เอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงเม็กซิโก ที่ได้มาร่วมเชียร์และให้กำลังใจทีมเยาวชนไทยลงแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก กล่าวว่า “รู้สึกปลื้มใจกับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะในการบังคับหุ่นยนต์ของเยาวชนไทย ซึ่งทำคะแนนได้สูงและได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมจำนวนมาก เชื่อว่าทีมเยาวชนไทยน่าจะสร้างชื่อเสียงและนำความยินดีมาสู่ชาวไทยอีกครั้ง”
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์โลกกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการหุ่นยนต์ ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าบางส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้แล้ว เช่น การใช้หุ่นยนต์กู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศที่เกิดอุบัติภัย อาทิ ญี่ปุ่น อิหร่าน และภาคใต้ของไทย ซึ่งในปีนี้ พบว่ามีหลายประเทศที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีน ที่มีความพร้อมสูงและเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทย มีจุดเด่นด้านกลไกการเคลื่อนที่ การบังคับหุ่นยนต์ระยะไกล แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านสมองกล จึงควรมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลเพื่อรองรับการใช้งานในสภาวะแวดล้อมที่ซับซ้อน และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์
เอสซีจี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมส่งกำลังใจเชียร์เด็กไทยในการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 7 เพื่อสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยอีกครั้ง