ศจ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เป็นผู้นำคณะตัวแทนรวมถึงพยานในเหตุการณ์และผู้รอดชีวิตหลายคน ในการชี้แจงเรื่องราวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ และในจดหมายที่ยื่นต่อคณะอัยการก่อนการหารือนั้น ดร.ธงชัยย้ำว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในประเทศไทยได้ หลังจากที่ทหารทำการรัฐประหารและปราบปรามพลเรือนมาหลายต่อหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ
“ผมศึกษาเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516, ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 รวมถึงการที่ผู้กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษ ผมติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น” ดร.ธงชัยระบุในจดหมาย “ผมขอเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศช่วยยุติวงจรที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ซึ่งส่งผลให้มีการปราบปรามพลเรือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการตรวจสอบกรณีสลายการชุมนุมปี 2553 และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ”
การเยือนกรุงเฮกในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มนปช.ใช้เวลานาน 2 ปีในการชี้แจงเรื่องการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่ทีมกฎหมายในนามของกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ลงสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม แต่มีการพิสูจน์แล้วว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือสัญชาติอังกฤษ ดังนั้นจึงอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ
“การหารือกับศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นที่น่าพอใจ เราจะเดินหน้าทำตามกระบวนการต่อไป” โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความจากบริษัท อัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีรอฟฟ์ แอลแอลพี ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าว “การหารือครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียดอย่างมาก เนื่องจากมีคนบางกลุ่มพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินในอีกไม่นานนี้ ประชาคมโลกจึงวิตกกังวลว่าอาจเกิดความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพระลอกใหม่ขึ้นอีก และนี่เป็นเหตุผลที่เรายื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ”
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี รวมถึงสำเนาจดหมายของดร.ธงชัยได้ที่ http://www.robertamsterdam.com/thailand