ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวในการเป็นประธานการประชุมจัดกิจกรรมดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ยะลา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนานมาเกือบ 8 ปี ส่งผลให้จำนวนเด็กกำพร้าในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากรวมถึงปัญหาการหย่าร้าง และการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ ด้วยแล้ว พบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเด็กกำพร้าสูงถึง 9,000-10,000 คน นอกจากนี้การดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังพบปัญหาว่า ผู้ดูแลเด็กกำพร้าส่วนใหญ่เน้นการแจกสิ่งของ แต่ไม่ได้ให้ความรัก ความอบอุ่น หรือการดูแลต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ดูแลเด็กกำพร้ามักอยู่ในวัยชราทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเด็กกำพร้าต้องติดตามครอบครัวไปที่สวนยาง ทำให้ขาดโอกาสในการศึกษา
ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง กล่าวต่อไปว่า ทางมูลนิธิฯ จึงให้เยาวชนในโครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนระดับตำบล 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.เพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ดังกล่าว คิดรูปแบบกิจกรรมในการดูแลเด็กกำพร้าในฐานะที่เป็นเยาวชนด้วยกัน และให้เด็กในองค์กรเยาวชนได้แสดงหน้าที่จากที่เคยเป็นผู้รับมาเป็นผู้ให้ โดยเน้นที่การให้ความรัก การเอาใจใส่ และการเป็นเพื่อน เป็นพี่ช่วยสอนน้อง และชี้แนะสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กกำพร้า ซึ่งองค์กรเยาวชนได้เสนอรูปแบบกิจกรรมที่จะช่วยดูแลเด็กกำพร้า 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกัน เน้นการสร้างความอบอุ่น ความรัก เป็นพี่ เป็นเพื่อน 2.กิจกรรมอาชีพ 3.กิจกรรมกีฬา และ 4.กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม
ด้านนายอับราน มอสู เจ้าหน้าที่โครงการดูแลเด็กกำพร้า มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งการลงพื้นที่สำรวจและเทียบเคียงข้อมูลอ้างอิงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ร้อยละ 50 ของเด็กกำพร้าในพื้นที่ทั้งหมด มีสาเหตุกำพร้าจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งองค์กรเยาวชนได้ร่วมกันคิดรูปแบบกิจกรรมเพื่อเข้าไปดูแลเด็กกำพร้าโดยเน้นที่การให้ความรัก และการเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีเครือข่ายองค์กรเยาวชนระดับตำบลกระจายอยู่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ประมาณ 130 ตำบล ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้จะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเด็กกำพร้าในชุมชนของตนเองร่วมกับผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม หลังจากนั้นจะเป็นการออกไปเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าตามข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งแรกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมร่วมกัน
“เด็กๆ จากองค์กรเยาวชนจะนำต้นกล้าไปมอบให้กับเด็กกำพร้าเพื่อให้นำไปปลูก เราเรียกว่าปลูกต้นรักเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน และลงไปติดตามดูแลว่าต้นกล้าเจริญงอกงามดีหรือไม่ พร้อมๆ ไปกับการทำกิจกรรมทั้ง 4 ด้าน ซึ่งต้นไม้เป็นเพียงสื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน แต่ประโยชน์ที่จะเกิดอย่างแท้จริงคือการได้มีเพื่อน มีกิจกรรมทำ เพราะเราถามเด็กกำพร้าว่า เขาอยากได้อะไร เขาบอกเลยว่าเขาอยากได้ความรัก ที่ผ่านมาความช่วยเหลือที่ลงไปมักเป็นการให้สิ่งของหรือทุนทรัพย์ ให้เงิน 1-2 พันบาทแล้วก็หายไป ปีใหม่ก็เอามาแจกใหม่ ซึ่งไม่ใช่การดูแลอย่างยั่งยืน การจัดกิจกรรมลักษณะดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่และปัญหายาเสพติดลงได้ เพราะเด็กที่เข้าสู่วังวนดังกล่าวส่วนใหญ่มักถูกทอดทิ้ง ไม่มีกิจกรรมหรือไม่มีงานทำ”นายอับราน กล่าว