โรงเรียนบ้านด่านสันติราษฎร์ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง เป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียนกว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาพุทธ ประกอบกับชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบอยู่ห่างไกลจากวัด ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง “คนกับวัด” และ “คนกับหลักธรรม” มากขึ้นทุกขณะ เมื่อหลักการครองตนและครองงานตามวิธีพุทธถูกละเลย ก็จะส่งให้สถาบันครอบครัว ชุมชน และสังคม ถูกสั่นคลอนได้โดยง่าย
“จงจิตต์ อินทจักร” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้พลิกบทบาทของตนเองจากครูสอนคณิตศาสตร์ มาสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพราะวิชาพุทธศาสนาถูกละเลย ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างคน “เก่งและดี” ไปพร้อมๆ กันได้
“เรื่องของพระพุทธศาสนาเราต้องยอมรับว่าเด็กไทยจะตอบอะไรที่เป็นเรื่องของศาสนาไม่ค่อยได้ เราจะด้อยกว่าศาสนาอื่น จึงเริ่มนำธรรมะมาเป็นหลักสูตรการสอนเสริมตั้งแต่ปี 2534 แล้วทางโรงเรียนก็ได้มีการประสานกับทางวัดจันทร์ธาดาประชาราม เปิดสอนนักธรรมมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้วได้เข้าถึงศาสนาได้ใกล้ชิดศาสนา ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวของเขาเข้มแข็งขึ้นได้” ครูจงจิตต์กล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน
โดยคุณครูที่โรงเรียนแห่งนี้ส่วนใหญ่จะศึกษาจนจบชั้น “นักธรรมเอก” เช่นเดียวกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอีกหลายๆ คน ซึ่งบางคนสามารถสอบนักธรรมเอกได้ตั้งแต่เรียนชั้น ม.1 ทำให้การเรียนการสอนพุทธศาสนาในโรงเรียนแห่งนี้ค่อนข้างเข้มแข็งจนได้รับรางวัลด้านคุณธรรมและจริยธรรมดีเด่นมากมาย โดยจัดให้มีกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ การบรรยายธรรม เป็นประจำทุกวันนอกจากนี้ทุกวันสำคัญทางศาสนายังใช้พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เสมือนว่าโรงเรียนเป็นวัด
“ที่โรงเรียนจะแตกต่างจากที่อื่นคือ ก่อนวันสำคัญทางโรงเรียนก็จะจัดเป็นสัปดาห์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเราก็จะมีการจัดกิจกรรมในโรงเรียนตั้งแต่การจัดการเข้าค่ายพุทธบุตร การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การเวียนเทียน การทำบุญตักบาตร เราทำทุกกิจกรรมเหมือนกับที่วัด และพอถึงวันสำคัญเราก็จะมีเชิญชวนให้กับผู้ปกครองได้นำนักเรียนไปปฏิบัติธรรมที่วัดใกล้บ้าน” ครูจงจิตต์กล่าว
นายเสกสรร เส็นเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านด้านสันติราษฎร์ กล่าวว่า ศาสนาพุทธสอนให้คนเชื่อมั่นในเหตุและผล แล้วใช้หลักของเหตุและผลไปเป็นหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
“สำหรับตัวเด็กเองก็จะเกิดสมาธิในการเรียน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อมีสมาธิก็จะเกิดสติ ซึ่งตรงกับคำสอนที่ว่า ศีล สมาธิ สติ และปัญญา โดยสิ่งที่โรงเรียนได้ดำเนินการไปยังไปสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นในเรื่อง เก่ง ดี มีความสุข ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของเด็กประถมและมัธยมอยู่ในลำดับต้นๆ ของเขตพื้นที่การศึกษา” ผอ.เสกสรร กล่าว
ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ แต่ก็ไม่ได้ละเลยการเรียนรู้ตามหลักศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ โดยได้มีการบูรณาการการเรียนรู้ และเชื่อมโยงหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน เพราะทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ตามวิถีของชาวเบตงที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
“สำหรับตัวนักเรียนก็จะเห็นได้ชัดว่านักเรียนเป็นคนที่มีคุณธรรมรู้จักการนำหลักธรรมรู้จักการใช้ศีล 5 เรื่องของการพูดจาเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เรื่องการเมตตา รู้จักการให้ รู้จักการทำบุญ รู้จักการเสียสละ และที่สำคัญเมื่อผู้ปกครองได้ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันกับนักเรียน ก็เกิดความสัมพันธ์ภายในครอบครัว พูดง่ายๆ คือการสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งโดยใช้หลักศาสนา” ครูจงจิตต์ระบุ
นายบุญธรรม เลิศศุภศาสตร์ อายุ 51 ปี ประธานสภา อบต.ตาเนาะแมเราะ ตัวแทนภาคี 4 ฝ่ายในภาคของชุมชน เล่าให้ฟังว่ารู้จักกับครูจงจิตต์เพราะเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน นิสัยส่วนตัวจะชอบช่วยเหลือคนอื่นๆ มาตั้งแต่ในวัยเด็ก และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนอยู่เสมอ
“ชาวบ้านทุกคนไว้วางใจ และเชื่อมั่นจากผลงานด้านการสอนที่ทุ่มเทมาตลอด ครูจะเข้มงวดกับเด็กมาก เปลี่ยนเด็กเกเรให้เป็นดีได้ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมด้านพุทธศาสนา ครูจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานงานระหว่างชุมชนกับโรงเรียน ให้เกิดการมีส่วนร่วมด้วยกัน เพราะครูใหญ่ท่านเป็นมุสลิม และยังเป็นสื่อกลางประสานงานกับ อบต.ด้วย ในการของบประมาณสนับสนุนต่างๆ” นายบุญธรรมระบุ
นอกจากจะมุ่งเน้นในเรื่องการเรียนการสอน การให้ความรู้เข้าใจหลักหลักพุทธธรรมเพื่อนำไปเป็นหลักคิดในการดำรงชีวิตของเด็กนักเรียนแล้ว “ครูจงจิตต์” ยังมีแนวคิดที่จะขยายผลการดำเนินงานเพื่อปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนาผ่านโครงการ “ธุรกิจคุณธรรม” ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง
“โครงการธุรกิจคุณธรรมเกิดขึ้นเพราะว่าเราอยากจะปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์เรื่องของความเป็นอยู่อย่างพอเพียง เราอยากให้เด็กนักเรียนนำกระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สอดคล้องกับเรื่องของศาสนาพุทธมาใช้ ตรงนี้ก็จะเป็นการเสริมรายได้ช่วยเหลือให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน จะได้เป็นการช่วยเหลือครอบครัวเพื่อให้สามารถเรียนหนังสือได้ตลอดรอดฝั่ง”
“เราอยากจะให้เด็กเป็นผู้ผลิตสินค้า อาหาร ขนม ที่มีคุณภาพ โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อผลิตสินค้ามาเรียบร้อยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้ขาย แต่จะมีการจัดกระบวนการให้ดี ขายราคาเท่าไร เตรียมเงินทอนให้พร้อม ใช้การบริหารจัดการแบบสหกรณ์เพื่อสร้างความซื่อสัตย์ให้กับเด็ก เงินที่ได้มาส่วนหนึ่งเราก็อยากจะฝึกในเรื่องของการออมให้กับเด็กนักเรียน แล้วก็รู้จักคืนเป็นทุน เป็นการปลูกฝังคุณธรรมซึ่งเราไม่ได้ทำเฉพาะกับเด็กนักเรียน โดยจะดึงผู้ปกครองส่วนหนึ่งมาสร้างเป็นชมรมเพื่อที่จะนำไปใช้ในบ้าน กับลูกๆ ต่อไป” ครูจงจิตเล่าถึงโครงการ
ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความมุ่งหวังอะไรมากไปกว่า ให้เกิดการพัฒนาตนเองของลูกศิษย์ จนสามารถปฏิบัติและดำรงชีวิตได้ในอนาคตอย่างมีความสุขด้วยโดยยึดหลักความพอเพียง
“ความเป็นคนดีในอนาคต การมีครอบครัวที่เข้มแข็งของเยาวชนไทย ที่สำคัญจะได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้กล่าวไว้ในพุทธศาสนา ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างถาวร ให้เกิดเป็นวิถีชีวิตในอนาคต ได้เป็นแบบอย่างในรุ่นถัดไป เพราะทุกวันนี้เราก็เรียนแต่ในหนังสือไม่ได้ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง หรือว่าปฏิบัติมันก็ไม่ต่อเนื่องแต่เราอยากจะปลูกฝังให้เป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตของตนเอง” ครูจงจิตต์สรุป.