เพราะที่ โรงเรียนบ้านส้มป่อย อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้มีการนำ “ม้า” มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมพัฒนาการให้กับด้อยโอกาสที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและสติปัญญาผ่าน “โครงการอาชาบำบัดเพื่อปรับพฤติกรรมนักเรียน” มาตั้งแต่ปี 2552 และได้ขยายผลไปสู่กลุ่มเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ ด้านทักษะ และด้านสังคมในปัจจุบัน
“ธนภัทร ตวงวิไล” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เล่าถึงที่มาของโครงการฯว่า เกิดจากการซื้อม้ามาเพื่อรักษาอาการสมาธิสั้นของลูกชาย หลังจากนั้นจึงพบว่าม้ายังช่วยแก้ปัญหาในด้านพฤติกรรมให้กับเด็กปกติทั่วไปได้อีกด้วย
“สำหรับเด็กที่สมาธิสั้นปกติแล้วเขาจะไม่มีความมั่นใจ ไม่สุงสิงกับใครและจะกลายเป็นเด็กที่ขาดสังคมไปโดยปริยาย แต่พอซื้อม้ามาฝึกให้กับลูกก็จะมีเด็กวัยเดียวกันที่สนใจเข้ามา จนกลายเป็นสังคมเล็กๆ ลูกก็มีเพื่อน มีความสดชื่นมากขึ้น กล้าที่จะออกมาสู่โลกภายนอก จึงตัดสินใจนำเงินทุนอีกก้อนหนึ่งซื้อม้ามาให้กับเด็กคนอื่นที่สนใจ” ครูธนภัทรเล่าถึงที่มา
โดยในช่วงแรกที่ดำเนินกิจกรรม ได้ใช้ม้าเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็กนักเรียนที่พิการซ้ำซ้อน ต่อมาได้เห็นว่ามีเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่สังคมมักมองข้าม เพราะพวกเขาขาดทั้งความสามารถในเชิงวิชาการ ขาดความสามารถในด้านกิจกรรม ซ้ำยังขาดโอกาสจากสังคม ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
จึงได้ขยายผล “อาชาบำบัด” เพื่อนำไปสู่สร้างทักษะชีวิต ปลูกฝังจิตสาธารณะ และสร้างการยอมรับในสังคมให้กับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ที่มีจำนวนกว่า 12 คน รวมไปถึงเด็กนักเรียนที่มีความสนใจในเรื่องของม้าอีกว่า 50 คน โดยปัจจุบัน “ครูธนภัทร” มีม้าที่ใช้ทำกิจกรรมกับเด็กๆ ทั้งหมด 4 ตัว เป็นม้าไทยและม้าเทศอย่างละ 2 ตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เงินทุนของตนเองทั้งสิ้น
“เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเหลือจากสังคมทั่วไป แล้วเขาก็จะชอบหาจุดเด่นให้กับตัวเองบางคนก็คว้าสิ่งที่ดีเพื่อให้เป็นจุดเด่นกับตัวเอง แต่บางคนก็เอนไปทางด้านยาเสพติด บุหรี่ เหล้า แต่ถ้าเราดึงเขาเข้ามาในจุดนี้ ให้เขามีความรักความผูกพันกับสัตว์ ซึ่งจะทำให้เขามีความอ่อนโยน มีความเมตตา พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน” ครูธนภัทรเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โดยโครงการนี้จะเน้นให้เด็กนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับม้าในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ศึกษาประโยชน์ของม้า ศึกษาการดูแลรักษาม้า ฝึกขี่ม้า และการฝึกม้าเพื่อใช้ในการทำกิจกรรมอาชาบำบัด และมีกติการ่วมกันคือต้องมีความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนในกลุ่มโดยยึดหลักเหตุและผล
ซึ่งทุกเช้าเด็กๆ ก็จะมาช่วยกันดูแลม้าที่บ้านของครูธนภัทร ก่อนที่จะจูงหรือขี่ม้าไปผูกไว้ภายในโรงเรียน ส่วนในตอนเย็นๆ หลังเลิกเรียนก็จะมีการฝึกขี่ม้า พาม้ากลับคอก ทำความสะอาด อาบน้ำ แปรงขน ดูแลให้อาหารฯลฯ โดยจะมีตารางแบ่งความรับผิดชอบดูแลม้าเพื่อสร้างระเบียบวินัยทุกวันตั้งแต่จันทร์ถึงอาทิตย์ นอกจากนี้ในช่วงที่มีกิจกรรมหรืองานสำคัญต่างๆ ในจังหวัด “ครูธนภัทร” ก็จะนำนักเรียนไปโชว์การขี่ม้าเพื่อแสดงความสามารถ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ อีกทางหนึ่ง
“ประโยชน์ที่เด็กจะได้จากม้ามี 2 อย่างด้วยกัน หนึ่งคือด้านทักษะชีวิต แบ่งเป็นด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เป็นสิ่งที่มุ่งหวัง เพราะว่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาสที่มีความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ ทางด้านสังคมเด็กก็จะได้ในส่วนนี้ เช่น การขี่ม้าก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ก็จะแจ่มใสสดชื่น สังคมก็คือมีเพื่อนมากขึ้น เด็กสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการศึกษาการปฏิบัติเกี่ยวกับม้าไปประยุกต์ในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างน้อยทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง พอมีความเชื่อมั่นมันก็จะเกิดพลัง และจะกล้าทำในสิ่งที่ไม่กล้าทำมาก่อนในสิ่งที่ถูกต้อง สองคือจิตสาธารณะ เด็กจะคอยช่วยเหลือกัน พี่สอนน้อง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนในสังคม ดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีค่าและไม่เคยก่อปัญหาให้กับสังคมเพราะเขาพร้อมที่จะเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี” ครูธนภัทรกล่าว
นายเชาว์ บุญเทียม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านส้มป่อยกล่าวว่า โครงการนี้จะเน้นเด็กนักเรียนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของความประพฤติ ปัญหาด้านร่างกาย สมาธิสั้น เรียนช้า หรือมีปัญหาทางด้านครอบครัว โดยจะพยายามดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน
“เด็กที่เข้าร่วมโครงการอาชาบำบัดจะได้ในเรื่องของสมาธิในการบังคับม้า ที่ส่งผลถึงสมาธิในการเรียน เด็กจะมีความสัมพันธ์และพฤติกรรมที่ดีขึ้นกับเพื่อนในโรงเรียน และคนในชุมชน ที่สำคัญยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเด็กเอง เวลาที่ไปแสดงการขี่ม้าแล้วมีคนปรบมือให้” ผอ.เชาว์ระบุ
ในส่วนของชาวบ้านที่มารอรับลูกหลาน และมาดูกิจกรรมอาชาบำบัดก่อนกลับบ้าน ต่างก็พูดถึง “ครูธนภัทร” ไปในทางเดียวกันว่า ทุกคนรู้จักครูมาตั้งแต่วัยเด็กเพราะเป็นคนบ้านส้มป่อย และเป็นคนที่ช่วยเหลืองานในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ “ครูเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเด็ก พูดจาดี นิสัยดี และแนะนำกิจกรรมดีๆ มาให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านมาตลอด” นางบุญ เขียวเขว้า ชาวบ้านส้มป่อยวัย 64 ปีกล่าว
โดยเมื่อได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “สสค.” ครูธนภัทรมีความตั้งใจว่าจะนำไปขยายผลให้โครงการ “อาชาบำบัด” ให้มีความทั่วถึงและเพียงพอสำหรับเด็กด้อยโอกาส และเด็กทุกคนในชุมชนทั้งเรื่องของจำนวน โรงเลี้ยง และสถานที่สำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับม้า
“ถ้าได้ทุนมาก็จะมาส่งเสริมต่อยอดในเรื่องต่างๆ ดังนี้ คือหนึ่งจำนวนของม้า ซึ่งตรงนี้ยังไม่พอเพียง สองคือสถานที่เลี้ยงม้า ซึ่งจะนำเงินส่วนตัวไปทำด้วยอีกส่วนหนึ่งในการหาสถานที่ในการบำบัดเพื่อให้เด็กสามารถคลุกคลีและอยู่ใกล้ชิดกับม้า และสามอาหารของม้า นอกจากหญ้าแล้วเราก็ต้องการให้ม้ามีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง”
ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ แม้จะต้องควักทุนส่วนตัวไปร่วม 3 แสนบาท แต่ครูหนุ่มจากเมืองพระยาแลผู้นี้ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่า การให้ลูกศิษย์เป็นคนดี และขอเพียงแค่เด็กกลุ่มนี้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ก็คือว่าสิ่งที่ลงแรงลงทุนไปนั้นคุ้มค่าแล้ว
“ผมเชื่อว่าเมื่อเด็กกลุ่มนี้ได้รับโอกาส ได้รับการปรับพฤติกรรม ชีวิตของเขาก็จะมีคุณค่า มีทักษะ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง” ครูธนภัทรสรุป