มร. มาซาโตะ โคทานิ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ครบรอบ 100 ปี ของการค้นพบรสชาติ “อูมามิ” เมื่อปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการเผยแพร่ศาสตร์แห่งรสชาติพื้นฐานที่ 5 สู่สังคมไทยมาอย่างจริงจัง ตามเจตนารมย์ที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยในด้านอาหารและโภชนาการ ผ่านบุคลากรด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาชีพพ่อครัวไทยหรือเชฟ ที่ต่างก็ให้การยอมรับใน “อูมามิ” ทำให้ “อายิโนะโมะโต๊ะ” ในฐานะเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำ มีแนวคิดที่จะจัดการแข่งขันปรุงอาหารขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าสามารถเป็นเครื่องมือที่มีส่วนช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวงการอาหารไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสมาคมพ่อครัวไทยและ Thailand Culinary Academy ผู้เป็นพันธมิตรในการจัดแข่งขัน และเป็นองค์กรที่ต่างก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของบุคลากรในวิชาชีพด้านอาหารเช่นเดียวกัน การแข่งขันปรุงอาหารภายใต้ชื่อ “Thailand Umami Culinary Challenge 2012” ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น
เชฟจำนงค์ นิรังสรรค์ นายกสมาคมพ่อครัวไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการเชฟมากว่า 30 ปีในฐานะที่ปรึกษาการจัดงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ได้ให้การสนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อต้องการเปิดโลกทัศน์ และยกระดับวิชาชีพให้กับบุคลากรด้านอาหารพร้อมรับแนวคิดและองค์ความรู้แห่งศาสตร์ของ “อูมามิ” ซึ่งเป็นรสชาติพื้นฐานที่ 5 ซึ่งแฝงอยู่ในวัฒนธรรมการปรุงอาหารทั่วโลกมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงการเชฟระดับสากล ผ่านการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการสร้างสรรค์เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งสมาคมฯ ยังต้องการนำองค์ความรู้นี้ มาช่วยส่งเสริมวงการอาหารไทยและเผยแพร่คุณประโยชน์สู่ผู้บริโภคต่อไป จึงพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการแข่งขันในครั้งนี้อย่างเต็มที่
ทางด้าน เชฟวิวแมน ลีออง ผู้ก่อตั้งและประธาน Thailand Culinary Academy ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันครั้งนี้ ได้นำศาสตร์แห่ง “อูมามิ” มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำมาสร้างสรรค์เมนู และสามารถนำเสนอให้กับกรรมการในรอบตัดสินได้ว่าเมนูดังกล่าว มีคุณประโยชน์ด้านโภชนาการและมีคุณค่าในแง่ใด และที่สำคัญ “อูมามิ” ที่แฝงอยู่ในแต่ละเมนูมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดอบรมและเวิร์คช้อปแบบเข้มข้นให้กับผู้เข้าแข่งขัน ทั้ง 2 รุ่น โดยในรอบชิงชนะเลิศ จะมีผู้เข้าแข่งขันในระดับเยาวชนจำนวน 20 ทีม ๆ ละ 2 คนและระดับมืออาชีพจำนวน 10 ทีมๆ ละ 3 คน และในฐานะที่ตนได้รับการรับรองเป็นกรรมการตัดสินการประกวดอาหาร ระดับ A ในประเทศไทย จากสมาคมเชฟโลก (World Association of Chef Societies : WACS) ก็ได้นำประสบการณ์จากการตัดสินประกวดอาหารจากหลายๆ เวที มาวางกฎ กติกาและอำนวยการแข่งขันให้เป็นไปตามมาตรฐานและเทียบเท่ากับหลักการแข่งขันระดับโลกเช่นกัน สำหรับคณะกรรมการรอบตัดสิน มีจำนวน 8 ท่าน ประกอบไปด้วยเชฟระดับมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ “อูมามิ” จาก Umami Information Center (UIC) ประเทศญี่ปุ่น องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เผยแพร่ “อูมามิ” ไปทั่วโลก
ส่วนทางด้าน ม.ล. ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือ เชฟหมึกแดง Thai Celebrity Food Expertในฐานะกรรมการร่วมตัดสิน กล่าวปิดท้ายว่า คุณประโยชน์ของรสชาติ “อูมามิ” อาจจะเป็นความรู้ใหม่สำหรับวงการอาหารไทย แต่ในระดับนานาชาติถือว่าเป็นที่รู้จักแพร่หลายมายาวนานแล้ว การเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ก็เพื่อช่วยขยายองค์ความรู้และศาสตร์แห่งอาหารให้กับเชฟท่านอื่นๆ ได้เปิดโลกทัศน์เช่นเดียวกับเชฟในต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้เผยแพร่ความรู้ด้านอาหารไทยในต่างแดนก็ได้เห็นความสำคัญขององค์ความรู้นี้ แต่ยังขาดเครื่องมือหรือเวทีที่จะช่วยส่งเสริมและเผยแพร่ในประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นที่พ่อครัวไทย หรือแม้แต่ผู้ที่จะเป็นเชฟในอนาคต ควรจะต้องมีองค์ความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมพัฒนาและส่งเสริม และพร้อมที่จะพลิกมิติวงการอาหารไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับการแข่งขันปรุงอาหาร Thailand Umami Culinary Challenge 2012 รอบชิงชนะเลิศ ในระดับเยาวชน และมืออาชีพ จะจัดขึ้น ในวันพุธที่ 4 กรกฎาคม ศกนี้ ณ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่ เวลา 8.30 — 19.00 น. ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ระดับ จะได้รับถ้วยเกียรติยศ และเงินรางวัลรวมกว่า 180,000 บาท และสามารถติดตามรายละเอียด เมนูที่ชนะเลิศและผลการแข่งขันได้ทาง www.umamiculinarychallenge.com