นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะเป็นศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนบทบาทอาสาสมัคร ซึ่งเป็นเครือข่ายหลักสำคัญในการพัฒนาสังคม ขณะนี้ได้มีอาสาสมัครชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินงาน และพำนักอยู่ในประเทศไทย จำนวน ๔๒๑ คน จาก ๑๙๘ องค์กร จึงต้องมีการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และองค์การเอกชน ในการให้บริการชุมชนและประชาชน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีพัฒนาที่สำคัญในพื้นที่อย่างน้อย ๓ ส่วน คือ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน/ชุมชน , องค์การเอกชนภาคประชาสังคม และภาคองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นหลัก และมีภาคีพัฒนาอื่นๆเป็นผู้เสริมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมให้ดำเนินการไปได้อย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนและชุมชนเข้ามาร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมไตร่ตรอง มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็นต่อนโยบายที่กำหนดก่อนนำไปปฎิบัติ และมีความตระหนักร่วมกันในการทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการ วิธีปฎิบัติการร่วมกัน เป็นการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริงในพื้นที่ อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ดีงามมีความยั่งยืนในที่สุด เนื่องจากในปีนี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองครบ ๑๐ ปี อาสาสมัครสากล และจัดทำรายงานอาสาสมัครโลกเป็นครั้งแรก กอปรกับสถานการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ยังผลให้เห็นถึงพลังอาสาสมัครที่ต่างมีจิตอาสาและออกมาปฎิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสังคม เป็นสิ่งที่ควรยกย่อง และส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง
นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการพัฒนาประเทศ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เรื่องของสังคมสวัสดิการเป็นวาระสำคัญของชาติ ซึ่งการสร้างสังคมสวัสดิการถ้วนหน้าในสังคมไทย ประกอบด้วย ๔ เสาหลัก คือ เสาหลักที่ ๑ การช่วยเหลือทางสังคม แก่ผู้ยากจนยากไร้ และผู้ด้วยโอกาส เสาหลักที่ ๒ การประกันสังคม เป็นการจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ เพื่อคุ้มครองประชาชนที่มีรายได้ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ให้ยังคงมีหลักประกันที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อน และดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เสาหลักที่ ๓ การให้บริการทางสังคม เป็นการจัดบริการโดยรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน ในด้านการศึกษาการสาธารณสุข สิ่งอำนวยความสะดวก และที่อยู่อาศัย และเสาหลักที่ ๔ การส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน องค์กรชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน ที่เข้ามาช่วยเหลือรับผิดชอบต่อปัญหาสังคม โดยการส่งเสริมงานอาสาสมัคร บทบาทภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีแนวคิดการจัดสัมมนา เชิงปฎิบัติการ “อาสาสมัครชาวต่างประเทศกับการพัฒนาสังคมไทย” ขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่ติดต่อประสานงานกันเกี่ยวกับแนวทางและรูปแบบการปฎิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน สามารถติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้อง สามารถติดตามผลการดำเนินการตามคำขอได้ และอาสาสมัครชาวต่างประเทศสามารถอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย อีกทั้งได้ทราบถึงกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติงาน ทั้งจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของทางราชการ และสิ่งที่อาสาสมัครควรปฎิบัติ
อย่างไรก็ตาม “งานอาสาสมัครเป็นงานที่มีคุณค่าแก่สังคม และบุคคลที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครได้เสียสละเวลาอันมีค่า ตลอดจนความสุขส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เป็นปัญหาทางสังคม การที่มีอาสาสมัครเข้ามาช่วยบรรเทาภาระงานของกระทรวงฯ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและสอดคล้องกับความต้องการที่จะให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และช่วยผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ภายในปี ๒๕๖๐” นายศุภฤกษ์ กล่าว.