ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๕๕ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๕ จ.นครราชสีมา จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัยที่ ๕ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เทศบาลนครราชสีมา ดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยร่วมกับตลาดกลางสุรนครเมืองใหม่ จ.นครราชสีมา ประสานงานและสนับสนุนให้มีห้องปฏิบัติการในการตรวจสารเคมีตกค้างในผักสด ผลไม้สด และอาหารอื่นๆ ขึ้น โดยตลาดกลางสุรนครเมืองใหม่ถือเป็นตลาดกลางขายส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสินค้าจากตลาดจะถูกกระจายไปทั่วจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดข้างเคียงอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระบุรี ลพบุรี ฯ จึงนับว่ามีคุณสมบัติสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชนในการบริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
“ในภาพรวมเรามีการดำเนินโครงการกับตลาดทั่วทั้งประเทศประมาณ 20 ตลาด โดยเราจะเน้นไปที่ 10 ตลาดค้าส่งใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตก็หวังว่าโครงการนี้จะเป็นหลักในการสนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกด้วย”
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบเฝ้าระวังในขณะนี้ผู้ประกอบการตลาดค้าส่งของแต่ละภูมิภาค ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด สุ่มตรวจความปลอดภัยพืชผักผลไม้ โดยทำเป็นระยะๆ หรือทุกๆ สัปดาห์ หากพบความผิดปกติก็ต้องมีการติดตามว่าสินค้านั้นมาจากที่ไหนแหล่งผลิต-ปลูกใด ตลอดจนดำเนินตามมาตรการควบคุมของตลาดและส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อส่งเสริมทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกผัก ผลไม้ เกี่ยวกับปัญหาและอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นการบูรณาการการตรวจสอบคุณภาพอาหารปลอดภัยตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ในทุกระดับและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจในการเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบยืนยัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก ผลไม้ และอาหาร ได้ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งห้องปฏิบัติการของภาคเอกชนดังกล่าว และมีการพัฒนาชุดทดสอบภาคสนามเพื่อนำมาตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก และผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ให้มีระบบการตรวจสอบสารเคมีดังกล่าว ก่อนที่สินค้านั้นจะถูกกระจายไปสู่แหล่งจำหน่ายต่างๆ รวมถึงผู้บริโภค หากผู้ประกอบการหรือตลาดใดผ่านเกณฑ์การประเมินจะได้รับป้ายตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวนอกจากจะดำเนินการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักสด ผลไม้สด ได้แล้ว ในอนาคตยังจะสามารถพัฒนาให้ดำเนินการตรวจสารเคมีปนเปื้อนชนิดอื่นๆในอาหาร เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริโภคอาหารของตลาดต่อไป