รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติตามนโยบายของรัฐบาลแล้วนั้น ดังนั้นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยคือการดำเนินการวิจัยและพัฒนางานวิจัย นอกจากนั้นยังมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคล ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีศูนย์วิจัยเฉพาะทาง ที่มีห้องปฏิบัติการ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนาการผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ และพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กองทัพอากาศได้เป้าหมายไว้
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นใคร่ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงกับทางกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้เกียรติและให้ความไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่ง นับว่าเป็นก้าวแรกของทั้งสองหน่วยงาน ที่ประสานความร่วมมือกัน นับตั้งแต่ที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกองทัพอากาศกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 พร้อมแสดงความหวังว่าจะเป็นความสัมพันธ์ และความร่วมมือที่ยั่งยืน ในการทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติตลอดไป
พลอากาศตรีบุญสืบ ประสิทธิ์ กล่าวว่า กองทัพอากาศเป็นกองทัพหนึ่งในกองทัพหลักของประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการเตรียมกำลังกองทัพอากาศเพื่อการป้องกันราชอาณาจักร โดยมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายในการบริหารราชการทุกส่วนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ทั้งนี้พบว่ายุทธศาสตร์ของชาติในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายงานการวิจัย เพื่อให้นักวิจัยมีระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพ พัฒนาแหล่งงานด้านการวิจัย นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาขั้นสูง เพื่อพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น จึงนำมาสู่ยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีนโยบายที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนายุทโธปกรณ์ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมสนับสนุนภารกิจหลักของกองทัพอากาศ ได้แก่พลังงานทดแทนด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการวิจัยร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพอากาศ จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติระหว่างกองทัพอากาศและมหาวิทยาลัยขอนแก่น
พลอากาศตรีบุญสืบ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่งนั้น เป็นโครงการวิจัยที่จะทำให้ได้มาซึ่งพลังงานทดแทนสำหรับอากาศยาน เนื่องจาก มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานสังเคราะห์เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานชนิด JET A-1 และ JP-8 ขึ้นในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางทหารและความมั่นคงทางพลังงานของชาติอย่างยั่งยืนในอนาคต
เหตุผลของการคิดค้นเพื่อหาพลังงานทดแทนให้อากาศยานก็เช่นเดียวกับพลังงานทดแทนด้านอื่น นั่นคือปัญหาจากวิกฤตการด้านการขาดแคลนพลังงาน หรือการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้กับอากาศยาน จึงทำให้มีการตระหนักถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อศึกษาค้นคว้าหาพลังงานทดแทนที่มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้งานกับอากาศยาน โดยพลังงานทดแทนที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะสม ได้แก่ค่าพลังงาน จุดเยือกแข็ง มีความปลอดภัยทางการบิน มีปริมาณที่ผลิตได้มีมากพอกับความต้องการ โดยมีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และต้นทุนการผลิตที่ยอมรับได้
โดยเทคโนโลยีสำหรับใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานนั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งมีการทดสอบการนำไปใช้งานกับสายการบินต่าง ๆ ได้แก่สายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ , Japan Airline , Virgin Atlantic , Continental Airlines รวมทั้งการบินไทยด้วย เป็นต้น และสำหรับประเทศไทย โครงการวิจัยและพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิง อากาศยานสังเคราะห์ด้วยกระบวนการไฮโดรโพรเซสซิ่งครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพลังงานทดแทนด้านอื่นๆ
พลอากาศตรีบุญสืบ กล่าวยกย่องมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากพืชน้ำมันชนิดต่าง ๆ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเป็นพลังงานทดแทน โดยเฉพาะด้านไบโอดีเซล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันสกัดจากสาหร่าย ซึ่งพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเพื่อการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์อากาศยานด้วยเช่นกัน
การที่กองทัพอากาศได้มีโอกาสประสานความร่วมมือในโครงการวิจัยครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งในการที่จะได้รับองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพทั้งบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงสถานที่ที่เหมาะสม องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของกองทัพให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมของกำลังทางอากาศเพื่อความมั่นคงทางทหารและพลังงานของชาติต่อไป พลอากาศตรีบุญสืบ กล่าวในที่สุด