เปิดไอเดีย ทีมนักศึกษาสร้าง หุ่นยนต์ตักบาตร...รวมพลังทำความดี ฉลองพุทธชยันตี2600 ปี

พุธ ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๑๒ ๐๘:๔๕
สำนักข่าวรอยเตอร์และสื่อมวลชนรายงานข่าวฮือฮาไปทั่วโลกกับนวัตกรรมหุ่นยนต์ตักบาตร...ครั้งแรกในโลก โดยฝีมือนักศึกษาไทยและอาจารย์นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)สถาบันที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย

รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง (สจล.) ผู้ให้กำเนิดหุ่นยนต์ตักบาตรในโลก กล่าวว่า“) คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.) ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เครือข่ายอาจารย์เพื่อสันติ ชมรมโรบอต และอีกหลายหน่วยงาน จัดงานตักบาตรนวัตกรรม...ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ด้วยจิตอาสามุ่งมั่นทำความดี ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้สร้างหุ่นยนต์ตักบาตร ครั้งแรกของโลก คือ หุ่นยนต์ชงโค และแคแสด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “การให้” ด้วยความรักความเมตตาต่อกันในสังคม พร้อมต้อนรับน้องใหม่ สจล.ด้วยวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม

พิสูจน์ให้คนทั่วโลกเห็นว่า ความเจริญของเทคโนโลยีนั้นสามารถยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นไปพร้อมกันได้อีกด้วยเพื่อสังคมที่สันติสุข โดยมีนักศึกษาคนรุ่นใหม่และชุมชนนับหมื่นคนร่วมตักบาตรแด่พระภิกษุกว่า 2,555 รูป ณ ลานสนามกีฬาของ สจล.เมื่อเร็วๆนี้ อาหารตักบาตรที่ได้นั้นจะนำไปถวายคณะสงฆ์ 286 วัด ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา พร้อมทั้งมอบหุ่นยนต์ตักบาตร แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยซึ่งได้นำไปร่วมงานตักบาตรกับประชาชนเมื่อเช้าวันที่ 7 ก.ค.55 ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ย่านอโศก และกิจกรรมต่างๆต่อไป “

มาคุยกับ 3 นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสมาชิกของทีม 40 คน คุยถึงการทำงานสร้างหุ่นยนต์ตักบาตรครั้งแรกของโลก

นัทพล ผลเจริญพงศ์

นัทพล ผลเจริญพงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ลาดกระบัง วัย 26 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมนักศึกษาสร้างหุ่นยนต์ตักบาตร ครั้งแรกของโลก คุยให้ฟังว่า

“ คนรุ่นใหม่เห็นหุ่นยนต์เป็นฮีโร่ของเขาอยู่แล้ว จึงคิดสร้างหุ่นยนต์เป็นสัญลักษณ์ของ “การให้” มาร่วมตักบาตรกับคน เริ่มคิดว่าภาพลักษณ์หน้าตาหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไรดี ศึกษาเทคนิค วิธีการหยิบของ การควบคุมแขน แนวคิดดีไซน์สรุปทำเป็นรูปบาตรพระให้คนทั่วโลกเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ สื่อให้คนต่างประเทศเข้าใจได้ชัดเจนที่สุด เราสร้างโมเดลหุ่นยนต์ขึ้นมา ขนาดย่อส่วนประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ทดสอบสิ่งที่เราคิด เช่น แขนกล การควบคุม เราต้องพิสูจน์ทราบว่าทำงานได้ดีหรือไม่ ถ้ายังไม่ดีต้องพัฒนาต่อ แก้ไขจนดี แล้วมาขยายแบบเป็น 3 เมตร

...โครงการทำหุ่นยนต์ตักบาตรเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุด มันเป็นบรรยากาศการทำงานร่วมกันของนักศึกษาต่างวัยต่างสาขาวิชา เพื่อนจากคณะสถาปัตย์ก็ยังมาช่วยกันด้วย เกือบ 2 ปี ที่ไม่ทิ้งกัน ลุยไปด้วยกันเต็มที่ พร้อมจะสู้กับอุปสรรค สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือได้เติมเต็มความรู้ ทดลองความรู้ที่เรามี นำมาประยุกต์ใช้ได้แค่ไหน ตามหลักพุทธศาสนาก็สอนให้เราเรียนรู้ธรรมด้วยการทำจริงด้วยตัวเอง ...เสน่ห์ของหุ่นยนต์ อยู่ตรงที่เป็นเทคโนโลยีซึ่งรวมทุกศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งกลไก โครงสร้าง วงจรอิเลคทรอนิกส์ โปรแกรม คอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรม ครีเอทีฟ การบริหารจัดการ งานหุ่นยนต์สื่อถึงการทำงานเป็นทีม ทำไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว หุ่นยนต์ไหนประสบความสำเร็จก็แสดงว่าทีมนั้นมีการทำงานประสานกันได้เยี่ยม

...วิศวลาดกระบังภูมิใจกับผลงานหุ่นยนต์ตักบาตรที่ออกมา เราไม่เพียงแต่สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันเราได้สร้างกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาที่สู้งานและพร้อมด้วยจิตอาสาที่จะทำอะไรดีๆให้สังคม ขณะที่เราสร้างหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์ก็สร้างเราไปด้วยครับ

... การเรียนในห้องเรียนเป็นแค่จุดเริ่มต้นของชีวิต เมื่อจบแล้วยังต้องเรียนรู้สิ่งรอบตัวตลอดเวลา ผมคิดว่าการเรียนรู้ให้ดีเพื่อความสำเร็จมี 4 อย่างคือ 1.รู้จริง รู้ความเป็นจริง 2.รู้ให้ทัน รู้ทันสมัย ทันกับเวลาที่เปลี่ยนแปลง 3.รู้รอบ นอกจากสายอาชีพที่เราเรียนแล้ว เราต้องรู้อย่างอื่นๆด้วย เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจโลกเอามาใช้แก้ปัญหาได้ 4.รู้ใช้ เอามาใช้ให้เกิด “

พงศกร จันทีนอก

หนุ่มน้อยวัย 21 ปี พงศกร จันทีนอก นักศึกษาปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เผยว่า “ผมเข้าร่วมทีมทำงานสร้างหุ่นยนต์ตักบาตรตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ เมื่อต้นปี 2554 ตั้งแต่การเขียนแบบบาตรพระแล้วขยายแบบ ใช้วัสดุอะลูมิเนียมเป็นกลีบบัว 8 กลีบเมื่อบาตรพระบานออกเนื่องจากเป็นวัสดุน้ำหนักเบา ในส่วนควบคุมได้ประยุกต์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้ควบคุมคอหุ่นยนต์ให้หันได้ ประกายไฟที่ดวงตาหุ่นยนต์ มือจับสิ่งของที่จะใส่บาตร รวมทั้งควบคุมการเปิดบาตรให้บานออกเป็นกลีบบัว เราใช้ระบบโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อผ่านบลูทูธไปยังหุ่นยนต์ชงโค งานเมื่อตอนเช้าควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือ ครับ

…ในดวงตาของหุ่นยนต์ สามารถบันทึกเก็บภาพเหตุการณ์ในงานได้ ผมและเพื่อนชื่อณัฐพงศ์ สังข์เจริญ ช่วยกันเขียนโปรแกรมเน็ตเวิร์ค ส่งภาพเสียงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เพื่อเผยแพร่ออกไปยังอินเตอร์เน็ตและเฟซบุ๊คแบบเรียลไทม์ โดยคนที่อยู่ไกลออกไปหรือในประเทศต่างๆสามารถชมพิธีตักบาตร 2555 รูปและหุ่นยนต์ตักบาตรครั้งแรกของโลก ได้จากลิงค์ในเว็บไซต์สถาบัน www.kmitl.ac.th/chongko

…ผมคิดว่าศาสนาพุทธประยุกต์มาใช้ได้ในชีวิตจริง ดังเช่น การทำดีก็จะได้ความดีเป็นผลตอบแทน เป็นเหตุเป็นผลเหมือนวิทยาศาสตร์ เมื่อทำปฏิกริยาอย่างหนึ่งก็จะได้ปฏิกริยาอย่างหนึ่ง คนทั่วไปมักคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีสูงขึ้น จิตใจมนุษย์จะต่ำลง ผมคิดว่าเราควรส่งเสริมวิธีการใหม่ๆโดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเผยแพร่พุทธศาสนาให้น่าสนใจและง่ายขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ในโลกวันนี้ เช่น วัยรุ่นคนรุ่นใหม่นิยมใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เราก็สร้างหุ่นยนต์ตักบาตรมาดึงดูดความสนใจเขาและเผยแพร่การตักบาตรผ่านสื่อเหล่านี้อีกด้วย พุทธศาสนาสามารถไปกันได้ดีกับเทคโนโลยีวันนี้และอนาคตครับ”

ชนน รังสิกวานิช

หนุ่มน้อยนักศึกษาวัย 20 ปี ชนน รังสิกวานิช คณะวิศวกรรมศาสตร์ปีที่ 3 สจล.กล่าวถึงการสร้างหุ่นยนต์และมุมมองต่อพุทธศาสนาว่า “ผมเห็นประกาศในเฟซบุ๊ค หาอาสาสมัครนักศึกษามาร่วมสร้างหุ่นยนต์เมื่อช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ เมษายน 2555 ตอนแรกก็รู้สึกเฉยๆเพราะปกติที่คณะวิศวลาดกระบัง เรามีการสร้างหุ่นยนต์อยู่บ่อยๆ แต่เมื่อทราบว่าเป็นหุ่นยนต์ตักบาตรตัวแรกของโลกที่จะมาร่วมพิธีบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ 2555 รูป จึงตัดสินใจสมัครร่วมทีมทันที

…เหนื่อยมากแต่ก็ภูมิใจมาก นับเป็นซัมเมอร์ที่คุ้มค่ามาก แทนที่เราจะอยู่บ้านนอนดูทีวีเฉยๆ กลับได้มาทำงานที่ท้าทาย ได้ใช้ความรู้ที่เรียนในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้รู้จักพี่ๆปริญญาตรี พี่ๆปริญญาโท และก็เพื่อนๆวิศวะจากสาขาต่างๆทั้งวิศวะไฟฟ้า, เครื่องกล, สารสนเทศ

…จุดที่ท้าทายมากในการสร้างหุ่นยนต์คือส่วนของแมคคานิกส์ วงจรไฟฟ้าและช่วงที่ทำการทดสอบ เราใส่วงจรอิเลคทรอนิกส์ลงไปตามแบบที่ออกไว้โดยบัดกรีชิ้นส่วนซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ มี 2 ส่วนคือ 1.บอร์ดไดร์ฟเพิ่มกำลัง สำหรับควบคุมมอเตอร์และ 2.บอร์ดคอนโทรล ควบคุมการจ่ายไฟซึ่งเราพัฒนาให้การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์นิ่มนวลเหมือนมนุษย์

…ดีใจครับที่ได้เกิดมาถึงยุคที่พุทธศาสนามีอายุ 2600 ปี และเป็นวัยที่เรากำลังมีไฟในการทำงาน ผมคิดว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุเป็นผล จะเห็นช้าหรือเร็วก็เป็นไปตามผลของกรรมการกระทำ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชีวิตอิสระ ผมนำคำสอนพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน เตือนใจตนเองว่าอะไรควรและไม่ควร ทำให้เรามีสติและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๑๒ กลุ่มสยามกลการ และ ครอบครัวพรประภา ผนึกกำลังกับโรงเรียนไฮเกต แห่งสหราชอาณาจักร เตรียมเปิดโรงเรียนนานาชาติไฮเกต ประเทศไทย ในปี 2569 ใกล้สนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ
๑๓:๕๖ จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคนรวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
๑๑:๑๙ เวลคัมแบคออนบอร์ด! บางกอกแอร์เวย์สต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว พร้อมกลับมาให้บริการในเส้นทางบินตรง เชียงใหม่ - กระบี่ เชื่อมต่อการท่องเที่ยวเมืองไฮไลต์ในล้านนา และอันดามัน เริ่มแล้ววันนี้
๑๑:๕๑ ITC สุดปัง โชว์ผลงานไตรมาส 3 กวาดยอดขาย 4.4 พันล้านบาท ดันกำไรพุ่ง 51% ตอกย้ำความเป็นผู้นำ เดินหน้าขยายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลก
๑๑:๕๕ หัวเว่ย ดิจิทัล พาวเวอร์ และลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) ประกาศความสำเร็จโครงการเช่าซื้อเพื่อสนับสนุนการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ เดินหน้าช่วยขับเคลื่อนเส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero
๑๑:๔๑ LYN INFINITE เปิดตัวคอลเลกชั่น WINTER 2024 กับแคมเปญ Miss Artificial ที่จะพาผู้หญิงทุกคนก้าวสู่ซีซันใหม่อย่างมีสไตล์
๑๐:๒๑ สมาคมธนาคารไทย ร่วมมือกับภาครัฐเตรียมออกมาตรการลดภาระชำระหนี้ ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก
๑๐:๒๗ A5 ประกาศความสำเร็จ ย้ายเข้าเทรด SET ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจ สู่การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักธรรมาภิบาล
๑๐:๕๔ LPN ส่งแคมเปญใหญ่ 'SHOCK PRICE' ช็อกราคา ส่งท้ายปี ดันยอดขายโค้งสุดท้ายปี 67 พร้อมรับข้อเสนอสุดว้าว! 8 พ.ย. - 31
๑๐:๓๔ ดรีมมี่ ร่วมด้วยช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด สมทบทุน-มอบสินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็น รวมมูลค่ากว่า 300,000