นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออกรายงานการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างสรรค์ ในสินค้าเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพว่า ปีนี้ตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน หรือ คิดเป็นมูลค่า 3,005 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 90,000 ล้านบาท) โดย 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ของปีนี้ ส่งออกเพิ่มขึ้น 14% คิดเป็นมูลค่า 1,105 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นมากที่สุดถึง 301ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 39 %
ทั้งนี้ไทยส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นมากที่สุด โดยญี่ปุ่นให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น สบู่สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้กับเส้นผม เครื่องสำอางสมุนไพรใช้ดับกลิ่นตัว เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรเป็นที่รู้จักทั่วโลกทั้งคุณภาพมาตรฐาน และมีแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานฮาลาล เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและนอกกลุ่มอาเซียน เช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางซึ่งมีกำลังซื้อมากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจ นอกจากนี้ตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง คือ แอฟริกาใต้ เพิ่มขึ้น 228%กานา 99% และรัสเซีย 103 %”นายภูมิ กล่าว
สินค้าไทยมีจุดแข็งในด้าน มีราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ความประณีต และการบริการ มีความหลากหลายด้านวัตถุดิบในการผลิต มีสถาบันรองรับและมาตรฐานการผลิต อย่างไรก็ตามภาครัฐจะเข้ามาดูแลภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงรูปแบบและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ยังเสียเปรียบคู่แข่ง การเร่งแก้ไขกฎหมายโดยเร็วและปรับปรุงประสิทธิภาพการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับปริมาณคำขอ
“สินค้ากลุ่มนี้หากมีการสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาทางด้านการผลิตวัตถุดิบอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทำการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ดีและมีประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ การลดกำแพงภาษีการนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ในการผลิต และดูแลค่าเงินและการบริการให้มีเสถียรภาพแล้ว จะทำให้สินค้าเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์รักษาผิวเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งขึ้น”นายภูมิ กล่าว
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์-อุปกรณ์ว่า ตั้งเป้าส่งออกปีนี้เพิ่มขึ้น 5% หรือ คิดเป็นมูลค่า 890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 26,700 ล้านบาท) โดยการส่งออก 5 เดือนแรกผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน5% ส่วนเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์มีมูลค่าการส่งออก 192 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ลดลง 5% ซึ่งส่งออกสูงสุดในตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯพม่า เวียดนามเบลเยี่ยม เยอรมัน เป็นต้น
ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อุตสาหกรรมยาของไทยยังมีโอกาสเติบโตจากการที่ผู้ผลิตยาข้ามชาติทั้งสหรัฐฯและยุโรปได้ใช้นโยบาย Outsourcing มาประเทศในแถบเอเชียมากขึ้นรวมทั้งการผลิตยาชื่อสามัญซึ่งเป็นประเภทของยาที่ผู้ผลิตไทยดำเนินการผลิตอยู่เริ่มมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากสิทธิบัตรหลายตัวกำลังหมดอายุลง ส่วนเครื่องมือแพทย์ฯยังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ความหลากหลายของสินค้ายังมีน้อย
“ไทยมีจุดแข็งในการผลิต โดยมีพัฒนาการและมีความพร้อมพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนและผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษา ดังนั้นควรทำวิจัยเพื่อให้ผู้บริโภคตลาดเป้าหมายต่างๆ ได้รับทราบถึงคุณภาพให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่งเสริมฐานข้อมูลการตลาดและเทคโนโลยีในระดับอาเซียน รณรงค์การใช้สินค้าไทยภายในประเทศ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสินค้าไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากตลาดต่างประเทศ”นางนันทวัลย์ กล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34