นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมในงานอภิปรายหัวข้อ “Asia in Transformation” หรือการอภิปรายเพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์ ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีประชาคมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติร่วมเสวนา อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยผ่านการอภิปรายและการโต้วาทีระหว่างผู้ร่างนโยบาย ผู้นำทางธุรกิจ นักวิชาการ และผู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ มากมาย
ในการอภิปรายครั้งนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อ The Financial Crisis and Deposit Insurance Systems : Lessons for Asia on Promoting Financial Stability ,Saving and Growth หรือ “วิกฤติการทางการเงินและความสำคัญของระบบคุ้มครองเงินฝาก....กับการเสริมสร้างความยั่งยืน มั่นคงทางการเงิน การออมและการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย” ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับบทเรียนจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ.2550-2552 ที่ได้ตอกย้ำความสำคัญของระบบประกันเงินฝากและเครือข่ายความมั่นคงทางการเงินต่างๆ ที่ต้องมีการบูรณาการกฏระเบียบ กฎเกณฑ์ การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพื่อการดูแลและคุ้มครองผู้ฝากเงินซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิพื้นฐานผู้บริโภค และต้องมีการเชื่อมโยงปัจจัยรอบด้านที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาการคุ้มครองให้เหมาะสมตามหลักการคุ้มครองและสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้ฝากเงิน ตลอดจนส่งเสริมเสถียรภาพให้กับระบบการเงินโดยรวม
นายสิงหะยังได้กล่าวอีกว่า ในขณะที่ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนยังได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วนี้ๆ ที่จะมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน (AEC) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีการแข่งขันในระบบธุรกิจทาง การค้า การเงินและการลงทุนในประเทศไทย มีการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งธนาคารพาณิชย์ของไทยและต่างประเทศ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟอรซิเอร์ ต่างต้องเร่งปรับตัว พร้อมทั้งต้องมาช่วยกันทบทวนระบบบริหารความเสี่ยงรองรับอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงประเด็นหนี้สาธารณะยังคงเป็นวาระสำคัญต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความกล้าหาญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในช่วงปี 2540 และในการอภิปรายยังได้มีการเปรียบเทียบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สถาบันการเงินของประเทศต่างๆด้วย เช่น ประเทศแม็กซิโกและไต้หวัน
“ ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นว่าหน่วยงานในเครือข่ายการกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ของประเทศไทย จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาอย่างยั่งยืน ” นายสิงหะกล่าว
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เลขที่ 1 อาคารอีสท์วอเตอร์ ชั้น 17 — 18 ถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 5 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ฝ่ายสื่อสารและเลขานุการองค์กร โทร. 02-272-0400 ต่อ 127 / www.dpa.or.th