นายอาทร วงศ์ธนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ไทยไพบูลย์ประกันภัยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัย ดำเนินการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
“การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย รวมถึงสิทธิต่างๆ ตามกรมธรรม์ เนื่องจากบริษัทฯยังคงยึดถือข้อตกลงและเงื่อนไขที่มีอยู่กับผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุในสัญญา โดยผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับผลประโยชน์และความคุ้มครองตามเดิม รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้น กลุ่มผู้ถือหุ้นหลักยังคงเป็นกลุ่มเดิม รวมถึงไม่ส่งผลต่อการบริหารจัดการ เพราะคณะผู้บริหาร คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่นั้นยังคงเป็นกลุ่มเดิมเช่นเดียวกัน ซึ่งยังคงยึดมั่นในนโยบายตามที่ประกาศไว้” นายอาทรกล่าว
นายอาทร กล่าวว่า “นโยบายหลังแปรสภาพเป็นมหาชนนั้น บริษัทฯยังคงเน้นวัตถุประสงค์ทางการตลาดแบบ White Ocean โดยตั้งมั่นบนพื้นฐานของบรรษัทภิบาลที่ดี และเสริมสร้างให้บุคลากร รวมทั้ง Business Partner ตั้งอยู่บนความถูกต้องดีงามตามพื้นฐานของคุณธรรม มโนธรรม และจริยธรรมแห่งอาชีพ โดยให้ความสำคัญถึงดัชนีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งต้องอยู่ในอัตราส่วนมาตรฐานสูงสุด
พร้อมเน้นรุกตลาดลูกค้ารายย่อย อาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายของตัวแทน ทั้งจากตัวแทนไทยประกันชีวิตและตัวแทนทั่วไป โดยวางกลยุทธทางการตลาด 4 ด้านไว้รองรับ ได้แก่ กลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินโดยการทำตลาดคัดเลือกกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ และคัดเลือกภัยที่ดี กลยุทธ์การพัฒนาระบบงานด้านต่างๆให้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งปรับโครงสร้างการบริหารตัวแทนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ พัฒนาระบบ IT และระบบการบริการต่างๆ ไม่ว่าเป็นระบบงานเคลมสินไหม งานออกกรมธรรม์ การเพิ่มช่องทางการชำระเบี้ย การเปิดศูนย์บริการข้อมูลประกันภัย (Help Point) เพื่อให้บริการแบบ All In One ในเรื่องของข้อมูลผลิตภัณฑ์ สอบถามอัตราเบี้ย งานต่ออายุ การจัดการใบคำขอ ฯลฯ ผ่านทางระบบโทรศัพท์ อีเมล แฟกซ์ กลยุทธ์ด้านการเพิ่มผลผลิต Productivity โดยเพิ่มทีมงานการตลาดในพื้นที่ สร้างระบบเครือข่ายตัวแทน จัดหากิจกรรมทางการตลาดให้กับกลุ่มตัวแทนรายย่อย และสำนักงานตัวแทน และสุดท้ายกลยุทธ์ด้านภาพพจน์และสื่อสารการตลาด โดยใช้สื่อต่างๆในการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงโครงการ CSR เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน Brand ให้กับตัวแทนและคู่ค้า”