ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เอสเอ็มอีเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ โดยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 38%ของจีดีพี จากจำนวนเอสเอ็มอีที่มีมากถึง 2.9 ล้านแห่งหรือ 99.6% แต่ในจำนวนนี้มีเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่จริง ๆ เพียง 9,128 แห่งหรือคิดเป็น 0.3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก รองลงมาคือเอสเอ็มอีขนาดกลาง 18,383 แห่งหรือ 0.6% ขณะที่เหลืออีก 99% หรือ 2,894,713 แห่งคือเอสเอ็มอีขนาดย่อม รายได้ส่วนใหญ่มาจากเอสเอ็มอีขนาดใหญ่มากสุด รองลงมาคือขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับ
จะเห็นว่าจำนวนเอสเอ็มอีกับการสร้างรายได้ไม่สมดุลกัน เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนน้อย ขณะที่เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีมากกว่า 2.8 ล้านแห่งนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้กระจายอยู่ทั่วไปแต่กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ เพื่อความคล่องตัวในการคมนาคม ขนส่ง ในแง่การเป็นแหล่งจ้างงานเอสเอ็มอีสามารถดูดซับแรงงานได้มากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานคือ ราว 13 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 3 ล้านคนที่ทำงานในเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ ที่เหลืออีก 10 ล้านคนอยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในลักษณะธุรกิจครอบครัว แบบเถ้าแก่ทำเอง สภาพการจ้างงานมีความสุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการตามกฎหมาย งานหนัก เหนื่อยยาก จึงมักมีอัตราการเข้า-ออกของแรงงาน(Turn over) สูงถึง 25-30% จึงมีภาระผู้ประกอบการในการสรรหาบุคลากรทดแทนอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจโดยภาพรวมกลับไม่ได้ให้ความกังวลในเรื่องแรงงานสูงในทุกขนาดอุตสาหกรรม แต่วิตกกับปัจจัยในเรื่องอื่นๆมากกว่า เช่น ราคา ตลาด ภาวะเศรษฐกิจ ค่าน้ำมัน ปัญหาค่าจ้างแรงงานไม่เป็นอุปสรรคมากนักในเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ แต่จะมีผลกระทบกับเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ซึ่งมีขนาดกลางและเล็กซึ่งต้องปรับตัวอย่างมาก แต่สำหรับเอสเอ็มอีขนาดย่อมไม่เกิน 5 คนทาง สสว.กลับเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงสูง
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับตัวของเอสเอ็มอีไทยขนาดกลางและขนาดเล็กก็คือจะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพและมีการยกระดับเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนแรงงานคนให้มากขึ้นโดยเร็วเพื่อควบคุมต้นทุนและให้ธุรกิจแข่งขันได้ นโยบายค่าจ้างสูงอาจจะทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนต้องปิดตัวลงและเลิกจ้างแรงงานแต่สถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายเนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานระดับกลางและระดับล่างหลายแสนคนในขณะนี้ ดังนั้นรัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดการถ่ายเทการจ้างงานจากแหล่งงานที่ลดคนงานไปสู่แหล่งงานที่ขาดคนงาน เพราะมีธุรกิจมากกว่าร้อยละ 66 ยังมีความต้องการแรงงาน จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมจัดหางาน จะเข้าไปทำการ matching คนตกงานกับแหล่งธุรกิจที่ยังมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มอยู่เป็นอย่างมาก จะช่วย บรรเทาปัญหาลดคนงานในเอสเอ็มอีและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับโอกาสเอสเอ็มอีไทยใน AEC ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ มีกระบวนการผลิตทันสมัย ต้องเพิ่มผลิตภาพหรือคุณภาพเข้าไป ใช้แรงงานฝีมือ (ต้นทุนต่ำ คุณภาพสินค้ามีมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์โดดเด่น) ราคาสินค้าต้องแข่งขันได้ (มียี่ห้อ มีตลาดรองรับ) ทั้งนี้ผลิตภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าซึ่งหากปรับปรุงเรื่องทางด้านทุน(กายภาพ)เรื่องเทคโนโลยีและทุนมนุษย์เข้ามาในอนาคตประเทศไทยจะกลับไปรุ่งเรืองทั้งๆที่เป็นเศรษฐกิจค่าแรงแพงได้อีกครั้ง.