นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดเช่าถือเป็นตลาดที่มีความผันผวนอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เหตุเพราะปัญหาอุทกภัย ครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 54 ที่ก่อให้เกิดอุปทานแฝงในตลาดเพื่ออพยพจากพื้นที่น้ำท่วม จนถึงช่วงการฟื้นฟู ที่อยู่อาศัย ที่กินระยะเวลาต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาสแรก
ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดเช่าช่วงครึ่งปีแรก 55 ทั้งในส่วนของตลาดอพาร์ตเมนต์สำหรับชาวต่างชาติ ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และตลาดอาคารสำนักงาน พบว่าสภาวะโดยรวม ตลาดอพาร์ตเมนต์สำหรับต่างชาติ ยังทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อุปทานสะสมในตลาดพบการลดลงเล็กน้อยเพียง 1.4% เนื่องจากมีอุปทานใหม่ เข้าสู่ตลาดเพียง 2 โครงการ จำนวน 16 ยูนิต ไม่สามารถชดเชยอุปทานเดิมที่มีการยกเลิกการปล่อยเช่าได้ ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 170 ยูนิต จึงส่งผลให้อุปทานสะสม ณ ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 11,538 ยูนิต โดยมีอุปสงค์ ตอบรับได้ลดลง 5% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 85% ในปัจจุบัน เป็นผลจากปีที่ผ่านมาได้รับอุปสงค์แฝงจากกลุ่ม ผู้ประสบอุทกภัยทำให้อัตราการเข้าพักเติบโตเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราปกติ ภายหลังจากได้รับการฟื้นฟูดีแล้วจึงทำให้ อุปสงค์มีการเคลื่อนย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิม อัตราการเข้าพักในอพาร์ตเมนต์เกรดเอ เติบโตขึ้นเล็กน้อย 1% จากปี 54 มาอยู่ที่ 89% ในขณะที่อพาร์ทเมนต์เกรดบี มีอัตราการเข้าพักลดลง 4% มาอยู่ที่ 87% เป็นผลจากพื้นที่ พระราม 3 รองรับอุปสงค์แฝงจำนวนมากในปีที่แล้ว เมื่อกลับสู่ภาวะปกติอัตราการตอบรับจึงลดลงสูง สำหรับราคาค่าเช่าต่อเดือนยังทรงตัว โดยโครงการเกรดเอในพื้นที่ธุรกิจหลักลดลง 1% มาอยู่ที่ 419 บาทต่อ ตารางเมตร ส่วนโครงการเกรดบีเพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 291 บาทต่อตารางเมตร
สำหรับ ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ยังทรงตัวจากปีที่ผ่านมา โดยอุปทานสะสมเติบโตขึ้นเล็กน้อย 1% จากอุปทาน ใหม่จำนวน 231 ยูนิต จาก 3 โครงการ โดยพบว่ามีอุปทานเดิมที่ปิดปรับปรุงไปเมื่อปีที่ผ่านมา ได้กลับมา ให้บริการอีกครั้งด้วยในปีนี้ ส่งผลให้ยอดอุปทานสะสมรวมอยู่ที่ 19,819 ยูนิต โดยพบอัตราการเช่าลดลง 5% เช่นเดียวกันกับอพาร์ตเมนต์ เนื่องจากการลดปริมาณลงของอุปสงค์แฝงช่วงน้ำท่วม และอุปสงค์บางส่วนย้ายกลับ ประเทศ ส่งผลให้อัตราการตอบรับอยู่ที่ 86% ในปัจจุบัน โดยพบว่าพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมอุปสงค์ลดลงสูงสุด 12% รองลงมาคือ สีลม-สาทร ลดลง 8% มาอยู่ที่ 83% และ 87% ตามลำดับ ส่วนสุขุมวิทและพญาไท ยังทรงตัวที่ 89% และ 84% ตามลำดับ อัตราการเข้าพักในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจหลักพบว่า โครงการเกรดเอลดลง 5% มาอยู่ที่ 86% และเกรดบีลดลง 6% มาอยู่ที่ 84% ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมและสีลม — สาทรเป็นผลจากโครงการใหม่ ปรับราคาค่าเช่าสูงขึ้น และบางโครงการหลังจากปิดปรับปรุงไปอุปสงค์ยังมาเติมเต็มได้น้อยกว่าโครงการอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ด้านราคาค่าเช่าโดยเฉลี่ยรวมพบว่าโครงการเกรดเอเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2% มาอยู่ที่ 1,028 บาทต่อ ตารางเมตร และโครงการเกรดบีเพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 745 บาทต่อตารางเมตร
ด้าน ตลาดอาคารสำนักงาน พบการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยทั้งฝั่งอุปทานและอุปสงค์ มีการขยับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1% โดยอุปทานสะสมอยู่ที่ 7.602 ล้านตารางเมตร จากอุปทานใหม่ 1 อาคารบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แต่ยังพบอุปทานเดิมบางอาคารปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนดและยกเลิกสัญญาพื้นที่เช่าจึงทำให้อุปทานหายไปจากตลาดบางส่วน ส่งผลให้อัตราการเช่าอยู่ที่ 88% เติบโตขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากพื้นที่เช่าในตลาดลดลง พื้นที่ธนบุรี มีอุปสงค์เติบโตสูงสุดในช่วงนี้ที่ 4% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 96% เพราะมีอุปสงค์ใหม่เข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่นี้ รองลงมาคือ พหลโยธิน เพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 94% เท่ากันกับ สุขุมวิท เพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 89% และพญาไท สุขุมวิทรอบนอก เพิ่มขึ้น 2% เท่ากันมาอยู่ที่ 92%และ 88% ตามลำดับ ในอาคารสำนักงานเกรดเอ พื้นที่ธุรกิจหลัก อุปสงค์เพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 84% และเกรดบี ลดลง 1% มาอยู่ที่ 85% สำหรับค่าเช่าอาคารสำนักงาน โดยรวมเฉลี่ยทุกพื้นที่อยู่ที่ 500 บาท ต่อตารางเมตร เติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 0.3% จากปีที่ผ่านมา อาคารเกรดเอ 3 พื้นที่ธุรกิจหลัก เพิ่มขึ้น2% มาอยู่ที่ 654บาท ต่อตารางเมตร และเกรดบี เพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 483 บาท ต่อตารางเมตร
หากวิเคราะห์ถึงแนวโน้มตลาดเช่าโดยรวมในปี 55 นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กล่าวแสดงความเห็นว่า “ภาพรวมสถานการณ์โดยรวมในปีนี้ นับว่ายังทรงตัวได้ดีต่อเนื่องในทุกตลาด แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตเมื่อปลายปี ที่ผ่านมาจนมีเหตุให้อุปสงค์เติบโตขึ้นผิดปกติในบางพื้นที่ สะท้อนผลเชิงลบในครึ่งปีแรกนี้ด้วยอัตราการตอบรับ ที่ลดลงในหลายพื้นที่ ถึงอย่างไรจากภาวะโดยรวมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ยังไม่พบความผิดปกติต่อสถานการณ์ อุปสงค์โดยรวมอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% ในขณะที่อุปทานยังเตรียมเปิดให้บริการใหม่อีกกว่า 200 ยูนิตในอนาคต และคาดว่าจะยังคงราคาค่าเช่าที่ระดับเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 2% ส่วน ตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ อุปทานใหม่ยังมีจำนวนน้อยอาจเติบโตจากปัจจุบันไม่เกิน 1-2% เท่านั้น เนื่องจากเป็นอุปทานแฝงตัว ในกลุ่มตลาดคอนโดมิเนียม โรงแรม และอพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ บางแห่ง ในขณะที่แนวโน้มอุปสงค์คาดว่าจะเติบโต ขึ้นอีก 2-3 % ตามภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนราคาปล่อยเช่าคาดว่าจะปรับขึ้น อีกเล็กน้อย 2-3% เช่นกันเพราะจะทยอยปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาด ส่วน ตลาดอาคารสำนักงาน ภายใน 2 ปีนี้ คาดว่าจะมีอุปทานใหม่เติบโตขึ้นอีกอย่างน้อย 6% จากปีนี้รองรับการขยายตัวทางธุรกิจของอาเซียน ส่วนอุปสงค์ คาดว่าจะเริ่มขยับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ราคาค่าเช่าต่อตารางเมตรคาดว่าจะปรับราคาขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 3% อิงตาม ภาวะเงินเฟ้อในอนาคต และต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น”