หลุมยุบ ภัยใกล้ตัวที่ควรรู้

พฤหัส ๑๙ กรกฎาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๑๔
หลุมยุบ หรือ ดินทรุด ภัยใกล้ตัวที่ควรระวัง

หากยังจำเหตุการณ์การเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ที่ประเทศกัวเตมาลา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2553 กันได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกคนต่างพากันสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลุมยุบขนาดใหญ่ยักษ์กลางสี่แยก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร ลึก 30 เมตร ได้ และหลุมยุบแบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในบ้านเราได้หรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ธรณีวิทยามีคำตอบ

หลุมยุบ เป็นธรณีพิบัติภัยแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กิจกรรมของมนุษย์เราเองก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดหลุมยุบขึ้นได้เหมือนกัน ลักษณะหลุมยุบเกิดขึ้นจากการทรุดตัวของพื้นดินลงเป็นหลุม มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น รูปเกือบกลมหรือเป็นวงรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 เมตร ถึงมากกว่า 20 เมตร

หลุมยุบมีสาเหตุการเกิดหลักๆ อยู่ 3 แบบ คือ

1. เกิดจากโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น สาเหตุแบบนี้เกิดจากกระบวนการที่น้ำละลายหินปูน โดยเมื่อฝนตกผ่านชั้นบรรยากาศ จะได้รับก๊าซคาร์บอไดออกไซด์ ทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดอย่างอ่อน (กรดคาร์บอนิก) เมื่อไหลผ่านและสัมผัสกับหินปูนจะละลายหินปูนออกไปด้วย ในที่สุดก็จะค่อยๆ เกิดเป็นโพรงหรือถ้ำอยู่ใต้ดินขึ้น เมื่อโพรงใต้ดินเหล่านี้มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นและอยู่ใกล้ผิวดินมากยิ่งขึ้น จนกระทั้งเพดานโพรงไม่สามารถต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนได้ ก็จะถล่มพังลงไปด้านล่างและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด

หากทุกคนอยากทราบว่าโพรงหินปูนมีหน้าตาเป็นอย่างไร ขอให้นึกถึงตอนที่เราไปเที่ยวกันในถ้ำนะครับ ซึ่งนั่นก็คือ โพรงหินปูนนั่นเอง ปกติถ้าโพรงหินปูนอยู่พ้นผิวดินก็คือ ถ้ำ ถ้าไม่โผล่เรียกว่าโพรงหินปูนใต้ดิน สามารถจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร) ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น เช่น เหตุการณ์หลุมยุบบริเวณสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านไร่ป้า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

2. หลุมยุบจากโพรงเกลือหิน เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นเกลือหินรองรับอยู่ด้านใต้ ซึ่งเกลือหินมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ง่ายทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และมีโอกาสเกิดหลุมยุบได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาผลิตเป็นเกลือสินเธาว์ เมื่อเพดานโพรงพังทลายอันเนื่องมาจากระดับความดันภายในโพรงเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นหลุมยุบขึ้น สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น หลุมยุบที่บ้านหนองราง ต.ค้างพูล อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

3. ชั้นทรายถูกน้ำใต้ดินพัดพาออกไป ทำให้เกิดดินทรุด ตลิ่งพัง มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นทรายรองรับอยู่ใต้ดินและอยู่ใกล้แม่น้ำ

ลำคลอง สาเหตุแบบนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเมื่อมีฝนตกหนักหรือตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณและแรงพัดพาของน้ำใต้ดินเพิ่มขึ้นจึงพัดพาเอาตะกอนทรายใต้ดินลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง หรือการลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น และอาจทำความเสียหายให้กับตลิ่งแม่น้ำ ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายได้ เช่น เหตุการณ์ดินทรุดตัวในพื้นที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง

เมื่อเราพอจะทราบสาเหตุหลักๆ ของการเกิดหลุมยุบแล้ว ทีนี้เราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลุมยุบที่กัวเตมาลากันครับ เหตุกาณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากพายุโซนร้อนอกาธา ทำให้มีฝนตกหนัก โดยในบริเวณที่เกิดหลุมยุบรองรับด้วยชั้นหินปูนที่โพรงถ้ำใต้ดินและปิดทับตอนบนด้วยตะกอนดิน เมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนซึมลงสู่โพรงถ้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำใต้ดิน และเมื่อเพดานต้านทานน้ำหนักของดินและสิ่งก่อสร้างที่กดทับด้านบนไม่ไหวจึงพังกลายเป็นหลุมยุบ

สำหรับในประเทศไทย เกิดปรากฎการณ์หลุมยุบขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป หลุมยุบบางแห่งปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม นั่นก็คือ ทะเลบัน จังหวัดสตูล ถ้ำมรกต จ.กระบี่ และทะเลในหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

เหตุกาณ์หลุมยุบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเกิดขึ้นที่บ้านพละใหม่ ตำบลขะเนจื้อ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ขนาด 30 X 30 เมตร ลึก 20 เมตร ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ส่วนเหตุการณ์ดินทรุดตัวที่บ้านหัวสะแก หมู่ที่ 3 ตำบลโพสะ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 14 หลัง สาเหตุเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรองรับด้วยชั้นทรายขี้เป็ด เมื่อระดับน้ำเจ้าพระยาลดลง แรงดันน้ำใต้ดินบนตลิ่งได้ดันทรายในชั้นทรายขี้เป็ดไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดโพรงใต้ดินขึ้น เมื่อมีตัวกระตุ้นทั้งจากน้ำหนักการถมที่เพิ่มขึ้นหรือการก่อสร้างในบริเวณนั้น จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการทรุดตัว และทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายตามที่ปรากฎตามข่าว

สนับสนุนข้อมูลโดย

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO