นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก รายงานการจัดทำโครงการ ITDS: International Trade Data System มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำระบบศุลกาการอิเล็คทรอนิกส์แบบจุดเดียว (Single Window) กรมศุลกากรสหรัฐฯและหน่วยงานด้านศุลการกรที่เกี่ยวข้องจะเริ่มใช้ตามความสมัครใจ ในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม 2555 โดยจะพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าให้สามารถยื่นส่งข้อมูลสินค้าและหมายเลขประกอบสินค้าดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะใช้ระบบได้อย่างสมบูรณ์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
“สหรัฐได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยผลการดำเนินโครงการนำร่องใน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ของเล่นไม้ตัดดอก และเนื้อสัตว์ในปี 2554 พบว่า การตรวจสอบโดยใช้หมายเลข รหัสการจำแนกสินค้าสากลและบาร์โค้ดที่บรรจุข้อมูลสินค้า ร่วมกับ มาตรฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประมาณการว่าสามารถลดจำนวนการตรวจสอบสินค้าได้80% เนื่องจากการนำเข้ากลุ่มของเล่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเดิม ในกลุ่มไม้ตัดดอกลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้า 50% และในกลุ่มเนื้อสัตว์ลดต้นทุนได้ 1.6 ล้านเหรียญฯใน 5 ปีแรก”นายภูมิ กล่าว
การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐริเริ่มใช้ซิงเกิ้ลวินโดว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบซัพพลายเชน และลดระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้าผ่านด่านศุลกากร บาร์โค้ดจะระบุถึงเครื่องหมายการค้า ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก รุ่นสินค้า โดยกรมศุลกากรสหรัฐจะพิจารณาจากประวัติการนำเข้าสินค้าตามหมายเลขดังกล่าว ซึ่งหากเคยได้รับการตรวจสอบและอนุมัติให้นำเข้าแล้ว ศุลกากรสหรัฐจะไม่ทำการตรวจสอบหมายเลขซ้ำอีก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบในสินค้าประเภทเดิมที่มีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
อนึ่งการค้าของสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ของปีนี้ สหรัฐฯทำการค้าสินค้าและบริการขาดดุลเพิ่มขึ้น 119 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่า 6% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่กว่า 909 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 5.7% ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,159 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 6.5%
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯในช่วง 5 เดือนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.4% คิดเป็นมูลค่า 9,263 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ น้ำมันดิบ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 35 หน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะใช้ซอฟต์แวร์คนละตัว คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐความอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร การลดขั้นตอนการส่งออก เนื่องจากเมื่อใช้ระบบนี้แล้ว เอกสารทุกอย่างอยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ และมีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการยื่นเอกสาร เพียงครั้งเดียว และสามารถตัดสินใจในการตรวจปล่อยได้ในคราวเดียว
สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ในขณะนี้ได้มีการปรับประสานมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกัน และจัดทำความตกลงการยอมรับร่วม(MRA) ในผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบซ้ำเมื่อมีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยครอบคลุมสินค้า 8 กลุ่ม คือ เครื่องสำอาง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือและอุปกรณ์ การแพทย์ อาหาร ยา ยาง และยาแผนโบราณ ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผ่านมาตรฐานของไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนดังกล่าวได้ง่ายขึ้น