น้องปรัชญา เล่าว่าเริ่มทำงานวิจัยมาตั้งแต่เรียนอยู่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 จากนั้นก็ทำให้สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจสภาพแวดล้อมในชุมชนซึ่งทำนาเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 แต่มีการใช้ปุ๋ยเคมีกันมาก ประกอบกับมีแหนแดงในชุมชนอยู่มาก
“มีผู้รู้ในชุมชนให้ข้อมูลว่าแหนแดงสามารถเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินแทนพืชตระกูลถั่วได้ครับ เราจึงอยากรู้ว่า แหนแดงจะช่วยเพิ่มปริมาณธาตุไนโตรเจนในดินได้หรือเปล่า และปริมาณแหนแดงมีผลต่อปริมาณไนโตรเจนในดินหรือเปล่า ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับต้นข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ได้หรือเปล่า เราใช้เวลาทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ 9 เดือนครับ” น้องปรัชญา เล่าถึงงานวิจัยให้ฟัง
น้องปรัชญา เล่าต่อว่า สิ่งที่เรียนรู้จากการทำวิจัย คือ เราต้องขยัน มาเก็บข้อมูลตามวันเวลาที่ได้วางแผนไว้นี้ ได้รู้หลักการวัดความสูงของต้นข้าวตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีความผิดชอบเพิ่มขึ้น เวลาได้ลงมือทำการตรวจวัดรู้สึกตื่นเต้น
สำหรับผลการวิจัย น้องเบญจมาภรณ์ เสริมต่อว่า เป็นไปตามสมมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ แหนแดงสามารถเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน และยังนำแหนแดงไปใช้ในการปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิได้ด้วย การทำงานวิจัยเรื่องนี้ทำให้ได้รู้จักการทำงานวิจัย ได้เดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และในชุมชน ได้ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการตรวจวัดเป็น ตอนแรกไม่รู้ว่าวัดอย่างไร พอทำงานวิจัย คุณครูสอนก็วัดเป็น
“หนูมีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และได้นำงานวิจัยไปทดลองกับที่บ้านด้วย เพราะบ้านหนูก็ปลูกข้าว เอาแหนแดงไปให้ลุง ใช้ใส่ในนาของตัวเอง อนาคตหนูอยากเรียนทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น อยากเรียบจบปริญญาเอกเป็นด็อกเตอร์ สนใจด้านสิ่งแวดล้อม หนูอยากรู้ว่าสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่สัตว์ชอบ และเรื่องราวของธรรมชาติต่างๆ อย่าง พวกไลเคน ที่เห็นในงานวิจัยของพี่ๆที่มาร่วมนำเสนอในงานนี้” น้องเบญจมาภรณ์ เล่าถึงการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วน น้องปรัญชา บอกเช่นกันว่า อยากเรียนด้านดาราศาสตร์ ตอนแรกอยากเป็นครู แต่พอเรียนวิทยาศาสตร์เยอะขึ้น ก็อยากเป็น ศาตราจารย์ ดร. ครับ สนใจเรื่องดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ต่างๆ
ด้านอาจารย์ จินตนา โม้ทอง อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย บอกว่า งานวิจัยของเด็กนั้น ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มรู้จักแหนแดงมากขึ้น และนำเอาแหนแดงมาใช้ในการทำเกษตรกรรมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่เด็กๆได้ประโยชน์คือ ในเรื่องการทำงาน เขาจะรู้ระบบว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง มีการวางแผน และรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในบ้านตัวเองก่อน
“ปรัชญาเริ่มทำโครงงานวิจัยมาตั้งแต่เรียนป.1 ส่วนเบญจมาภรณ์ เริ่มตอนเรียนชั้น ป. 3 เขาทั้งสองคนมีพัฒนาการเยอะมาก รวมไปถึงเรื่องการพัฒนานิสัย มารยาท การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีระเบียบมากขึ้น เขาได้มองเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันจำเป็น เราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและพัฒนาไปสู่วิชาอื่นๆได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ ได้ด้วย” อาจารย์จินตนา พูดถึงพัฒนาการของน้องทั้งสองคน
นอกจากรางวัลชนะเลิศที่ได้รับจากงานวิจัยครั้งนี้แล้ว อาจารย์ จินตนา ยังบอกอีกว่า ทั้งสองคนเคยได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนองานวิจัยที่ประเทศอินเดีย เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย จึงทำให้เขามีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และสามารถสื่อสารได้ดี
“การที่เขาได้นำเสนองานวิจัยครั้งนี้ ทำให้เขาได้นำผลการศึกษามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ พี่ๆ คนอื่นๆ ได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ สำหรับตัวครูเองก็ได้ประโยชน์ เพื่อจะนำไปใช้ขยายเครือข่าย หรืออบรมเครือข่ายในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกต่อหนึ่งด้วย” อาจารย์จินตนา กล่าวถึงประโยชน์ที่ตนเองได้รับ