คสช. เห็นชอบเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์เอชไอเอ

อังคาร ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๑๒ ๑๓:๕๓
คสช.เตรียมปรับหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ)ให้เหมาะสมกับสถานการณ์สังคม คาดแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมประชาชนมากขึ้นระบุต้องชัดเจนในโครงการที่ต้องทำเอชไอเอ แนะทำเอชไอเอก่อนพัฒนาโครงการ

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2555 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่าที่ประชุม คสช. ให้ความเห็นชอบต่อการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะหรือ เอชไอเอ ซึ่งตามระเบียบจะต้องมีการปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเหมาะสมกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามการเสนอปรับหลักเกณฑ์ต่อที่ประชุม คสช.ครั้งนี้ เป็นการเสนอเพื่อให้ความเห็นชอบในกรอบเบื้องต้นก่อน โดยหลังจากนี้จะต้องดำเนินการยกร่างฉบับสมบูรณ์และต้องมีกระบวนการการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชน โดยต้องมีความครอบคลุมและเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มากที่สุด คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

“การทำเอชไอเอถือเป็นเครื่องมือหลักในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 เป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพชุมชน เพื่อปกป้องพื้นที่ วิถีชีวิต และสุขภาวะของตนเอง ซึ่งในหลักเกณฑ์เอชไอเอสามารถดำเนินการได้ 4 กรณี คือ 1.กรณีโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2.กรณีการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจกรรมด้านการวางแผนพัฒนา 3. กรณีที่บุคคลหรือคณะบุคคลร้องขอใช้สิทธิตาม มาตรา 11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และ 4. กรณีการทำเอชไอเอ เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เช่น การทำเอชไอเอชุมชน เป็นต้น

ด้านนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการติดตามและจัดให้มีการประเมินผล แลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากองค์กร หน่วยงาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์เอชไอเอเพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยในเชิงแนวคิดและหลักการ เห็นควรให้มีการปรับคำนิยามโดยไม่ควรมองแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ควรมองให้ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตด้วย รวมทั้งควรมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทำเอชไอเอด้วยความสมัครใจ พัฒนาให้แทรกอยู่ในการวางแผนและโครงการพัฒนาทุกระดับ และการทำเอชไอเอที่ผ่านมามักจะพบข้อจำกัดและปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานเอชไอเอทั้ง 4 กรณี แม้จะใช้กรอบแนวคิดการทำเอชไอเอเดียวกัน แต่การให้อำนาจและการตัดสินใจในแต่ละขั้นตอนยังมีความแตกต่างกัน รวมถึงต้องมีการปรับวิธีการดำเนินงานให้มุ่งผลลัพธ์มากกว่ากิจกรรมที่ต้องดำเนินการ

นพ.วิพุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการคัดกรองโครงการจะต้องหาแนวทางให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างกว้างขวาง หรือหาแนวทางในการสนับสนุนงบประมาณให้ชัดเจน พร้อมกับเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ หรือ Public scoping ซึ่งที่ผ่านมากลายเป็นเวทีขัดแย้ง จึงต้องปรับปรุงให้เป็นการกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญที่ควรทำการประเมินที่มาจากสาธารณะอย่างแท้จริงเพื่อคาดการณ์ว่าโครงการหรือนโยบายต่างๆ จะเกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและลบอย่างไรบ้าง หรือจะสร้างความเหลื่อมล้ำหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เป้าหมายของการพัฒนาปรับปรุงหลักเกณฑ์ก็คือหวังให้เอชไอเอเป็นเครื่องมือหนุนเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาเอชไอเอในหลากหลายระดับตั้งแต่ชุมชน โครงการและระดับนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม คสช.ยังให้ความเห็นชอบต่อรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และให้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สย.) คณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ในรายงานผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชน รายงานว่าพื้นที่ ต.เขาหินซ้อนปัจจุบันมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม ที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคลองท่าลาดซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาสำคัญของลุ่มน้ำบางปะกง และเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่มีศักยภาพในการเลี้ยงคนทั้งในและต่างประเทศ เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ส่งขายสหภาพยุโรป นอกจากนี้พื้นที่นี้ยังเป็นคลังสำรองพันธุกรรมอาหาร และช่วยเหลือชุมชนอื่นในยามวิกฤติ เช่น แบ่งข้าว ปลา อาหาร และเมล็ดพันธุ์ให้กับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอีกด้วย เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์เข้ามาตั้งอาจทำให้เกิดฝนกรดทำความเสียหายให้กับภาคการเกษตร และเสี่ยงต่อการปนเปื้อนปรอทและโลหะหนักในห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งก่อให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำอีกด้วย ดังนั้นในรายงานจึงมีข้อเสนอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองพื้นที่ผลิตอาหารในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดควรปรับข้อกำหนดผังเมืองมิให้มีการอนุญาตโครงการหรือกิจการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ผลิตอาหาร และความมั่นคงด้านอาหาร ควรมีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ผลิตอาหารและผลักดันให้มีการประกาศเขต “พื้นที่คุ้มครองแหล่งอาหาร” รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน

ที่ประชุมยังได้แมอบหมายให้ สช.ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และชุมชนเพื่อจัดกลไกในการแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงวางกรอบการพัฒนาอนาคตของลุ่มน้ำคลองท่าลาดให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ต่อไปด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ ก.พ. รฟท. จัดรถไฟส่งผู้ชุมนุมขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ
๒๑ ก.พ. BCPG เผยผลการดำเนินงานปี 2567 กำไรสุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 65% จากปีก่อน พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง
๒๑ ก.พ. เกรท นำทีมศิษย์เก่า ฟอส-แบงค์ ฉลองครบรอบ 40 ปี ม.รังสิต เปิดตัว คริส หอวัง กับบทบาท ครูผู้ฮีลใจนักศึกษา แห่งสถาบัน
๒๑ ก.พ. ธนาคารกรุงเทพ ประกาศจ่ายเงินปันผล หุ้นละ 8.50 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567
๒๑ ก.พ. GULF เคาะแล้ว! อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 4-10 ปี ที่ 3.00 - 3.55% ต่อปี พร้อมเสนอขายประชาชนทั่วไป 27-28 ก.พ. และ 3 มี.ค.68 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 10
๒๑ ก.พ. Selena Gomez, benny blanco, Gracie Abrams ส่งเพลงสนุกๆ โดนใจ Gen-Z Call Me When You Break Up การรวมตัวของอเวนเจอร์วงการเพลงป็อปที่ทุกคนรอคอย!
๒๑ ก.พ. MBK Care อาสาทำดี ปันน้ำใจสู่สังคม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ ปีที่ 7 ส่งมอบความสุขเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค
๒๑ ก.พ. บางจากฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของกลุ่มบริษัทบางจาก
๒๑ ก.พ. สวยทุกลุค ชมพู่ - อารยา ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ของสาว GUESS ในแคมเปญคอลเลกชัน Spring Summer 2025 สีสันแห่งฤดูกาลใหม่
๒๑ ก.พ. วช. เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบการยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ