ทริป “เชียงคานเมื่อวานนี้” (เดินทางวันที่ 14-16 กันยายน 2555)
“ฌอห์ณ จินดาโชติ” นำทีมชวนแพ็กกระเป๋ามุ่งหน้าสู่เมืองอันแสนสงบริมแม่น้ำโขง ปั่นจักรยานในปัจจุบัน เพื่อตามหาความงดงามในวันวาน ร่วมกิจกรรมตักบาตรข้าวเหนียว ลงมือเข้าครัวทำอาหารพื้นเมืองด้วยตัวเอง เรียนรู้วัฒนธรรมไทดำ และชมความงามภูทอกกับทะเลหมอกยามเช้า ใครอยากร่วมเป็น 40 ผู้โชคดี ส่งภาพถ่ายในอดีตที่ได้ไปในแหล่งท่องเที่ยวของไทย พร้อมบอกเล่าความประทับใจไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A 4 ส่งที่ [email protected] หมดเขต 3 กันยายน 2555
ทริป “อยู่น่าน นาน นาน นะ”(เดินทางวันที่ 12-14 ตุลาคม 2555)
“เป้ อารักษ์” นำขบวนชวนเที่ยวน่าน นาน นาน พร้อมซึมซับความเป็นน่านชนิดเต็มอิ่มจากคนท้องถิ่น ชมศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของล้านนา บุกเข้าป่าเปิดประสบการณ์ทดลองทำชาเมี่ยงแบบต้นตำหรับ เต็มอิ่มกับอาหารเหนือแบบขันโตก ร่วมเป็น 40 ผู้โชคดีได้ โดยส่งบทความ บทกวี หรือแต่งกลอน เชิญชวนให้อยู่น่าน นาน นาน นะ (โดยจะต้องมีคำว่า “อยู่น่าน นาน นาน นะ” รวมอยู่ด้วย) ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A 4 ส่งที่ [email protected] หมดเขต 1 ตุลาคม 2555
ทั้งนี้ รูปแบบการเดินทางไม่ได้หยุดอยู่แค่การไปแล้วกลับ แต่จะเป็นการต่อยอดรวมพลังคนรุ่นใหม่ทำสารคดีสั้น ซึ่งจะรวบรวมภาพถ่ายในอดีตและปัจจุบันของเชียงคานมาร้อยเรียงต่อกัน พร้อมเก็บความรู้สึกของผู้คนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว ในประเด็น ‘เชียงคานเมื่อวานนี้’ และร่วมถอดรหัส ‘7 Green Ways’ ของเชียงคานเพื่อเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ เผยแพร่ผ่านช่องทาง Youtube และ Social media นอกจากนี้ ยังได้จัดทำหนังสือ (Booklet) ภายใต้หัวข้อ ‘อยู่น่าน นาน นาน นะ’ รวบรวมการท่องเที่ยวแบบ ‘7 Green Ways’ ใน จ.น่าน พร้อมบทสัมภาษณ์และความรู้สึกของคนที่อยู่น่านมานาน หรือผู้ที่หลงใหลและอยากรักษาเสน่ห์ของเมืองน่านไว้ให้นานที่สุด โดยจะจัดพิมพ์ Booklet แจกพร้อมนิตยสาร a day เพื่อเผยแพร่รูปแบบและวิธีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงศิลปวัฒนธรรม และวิถีชุมชนรอบ ๆ ตัวกับผู้อ่านทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ททท. ได้มุ่งมั่นกับบทบาทและภารกิจหลักสำคัญด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ควบคู่กับการส่งเสริมและรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คน ชุมชน ในบริเวณโดยรอบที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งท่องเที่ยว โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในที่สุด ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะมีผลโดยตรงต่อวงจรชีวิตของแหล่งท่องเที่ยว (Product life cycle) ที่แหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ จะคงรักษาระดับความนิยมและสามารถแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อย่างยาวนาน โดยในปี 2555 ททท. จึงได้กำหนดกลยุทธ์รณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรู้ค่า รักษาแหล่งท่องเที่ยว โดยยกเอาพื้นที่หลักของภาคต่างๆ ที่อยู่ในกระแสความนิยมเป็นพื้นที่นำร่องในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบไป