สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ICED 2012 ครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม ภายใต้หัวข้อการประชุม “ Across the Globe Higher Education Learning and Teaching-Where East Meets West”
ผศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร นายกสมาคมเครือข่ายการพัฒนา วิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) เปิดเผยว่า ปีนี้นับเป็นเกียรติที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) และที่ประชุมนานาชาติเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (International Consortium for Educational Development — ICED)
การจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาประจำปี พ.ศ. 2555 (ICED 2012) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีระดับสากลของนักวิชาการและผู้พัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนตลอดจนการสะท้อนแนวคิดและประสบการณ์จากงานวิจัยและผลการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน
การประชุมวิชาการดังกล่าวได้มีการจัดอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2 ปีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพแห่งแรกในเอเชีย ภายใต้หัวข้อการประชุม “Across the Globe Higher Education Learning and Teaching-Where East Meets West” ซึ่งได้รับเกียรติจากนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและผลงานด้านการพัฒนาการเรียนการสอนหลายท่านเป็นผู้บรรยายหลักและนำการประชุมเชิงปฏิบัติการ
Professor Dr.Eric Mazur ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้บรรยายในหัวข้อ Are we teaching the right thing? ซึ่งมีการยกตัวอย่างการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและวิธีการเรียนการสอนที่สร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการสอนของอาจารย์ โดยเน้นการสอนแบบการตั้งคำถามให้นักเรียนเกิดการคิดเลือกคำตอบ พร้อมมีการหารบทสรุปคำตอบในขณะเรียนรู้ และมีการวัดผลการมีส่วนร่วมทางการเรียนโดยใช้ระบบการโหวตและการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างผู้เรียนซึ่งสร้างการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในขณะนั้น
Professor Dr.Eric Mazur ได้สาธิตการสอนในรูปแบบ Peer Instruction ซึ่งเป็นการให้ผู้เข้าฟังสัมนาได้เรียนและคิดในหัวข้อเดียวกัน และช่วยกันวิเคราะห์ซึ่งเป็นการสร้างการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เข้าร่วมสัมนาและเข้าใจกระบวนการสอนของอาจารย์มากขึ้น
คุณมีชัย วีระไวทยะ ในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียนไม้ไผ่ จังหวัดบุรีรัมย์ กับ Professor Sheila Riddell นักวิจัยระดับต้นๆ ของวงการศึกษาของยุโรป จาก University of Edinburgh ประเทศสก็อตแลนด์ พูดในหัวข้อ Across the globe higher education learning and teaching
คุณมีชัย ได้นำเสนอแนวคิดการให้ทุนการศึกษาไม่มีประโยชน์เท่ากับการสร้างการศึกษาที่ยั่งยืนให้กับเยาวชนไทย ด้วยการคิดค้นโมเดลทางการศึกษาใหม่ เพื่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยใช้การเรียนการสอนที่พัฒนาในทุกด้าน ทั้งร่างกาย ความคิด อารมณ์และจิตวิญญาณ ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข และได้แนะนำวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนไม้ไผ่ ที่ใช้วิธีการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้และค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ภายใต้การแนะนำของครูผู้สอนซึ่งมีคุณภาพทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่เข้าใจวิธีการสร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักเรียนและชุมชน โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ นำความรู้ที่ได้จากการเรียนชั้นเรียนไปช่วยพัฒนาชุมชนและเชิญชุมชนเข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันด้วยเพื่อความพัฒนาทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน
Professor Dr.Hwang Dae Joon Secretary General of Korean Council for University Education, Republic of South Korea พูดในหัวข้อ Clustering and networking in education across the globe ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถช่วยพัฒนาด้านการศึกษาได้ทำให้เด็กทั่วโลกได้เข้าถึงการศึกษาได้ง่ายๆ เมื่อต้องการรู้หรือศึกษาอะไรก็สามารถค้นหาในโลกออนไลน์ได้ด้วยต้นเอง และนำความรู้ที่ได้ศึกษามาแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์และองค์ความรู้ใหม่ๆ
การประชุมในครั้งนี้ยังมีนักวิชาการจากนานาประเทศที่มาร่วมนำเสนอแนวคิด ผลงานทางการศึกษาด้วยการ การแสดงโปสเตอร์เป็นจำนวนมากซึ่งมีมากว่า 250 โครงการ จาก 31 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนักวิชาการที่ได้มาประชุมได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันไม่ได้มุ่งหวังให้นักเรียนสร้างการแข่งขันซึ่งกันและกันเพื่อเป็นที่ 1 แต่จะเน้นให้นักเรียนได้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยี หรือแรงผลักจากครูผู้สอน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยยังมีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกันอย่างมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดาพร ลักษณียนาวิน อุปนายกด้านวิชาการ ของควอท. กล่าวว่า การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ให้ประโยชน์แก่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างมากเพราะทำให้ครูผู้สอนในประเทศไทยได้เปิดโลกทัศน์ได้เห็นเทคนิคการสอนจากต่างประเทศที่ลึกซึ้งกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการป้อนข้อมูลให้ผู้เรียน เพราะความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยการนำพาของเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและรู้ถึงวิธีการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่นเรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่นอกจากจะเปิดกว้างทางธุรกิจแล้วในโลกของการศึกษาก็จะมีการแลกเปลี่ยน นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนที่เรียนได้ ซึ่งนั้นหมายถึงว่ากระบวนการสร้างการเรียนรู้ ความตื่นตัวและความพร้อมของนักศึกษาในประเทศไทยต้องพร้อมที่จะกว้างไปข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานความรู้ในมาตรฐานเดียวกันโดยเฉพาะภาษาอังกฤษมีความสำคัญเนื่องจากจะเป็นภาษากลางในการสื่อสาร การเท่าทันและเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะใช้ค้นหาความรู้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาคเอเชีย ผ่านคณะทำงานของคอวท. ที่สร้างคลังความรู้ในการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ และเชื่อมโยงความร่วมมือกันระหว่างโลกตะวันตกมาตะวันออก ที่จะช่วยเหลือและพัฒนาแนวคิดและวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่จะพัฒนาวงการศึกษาในภูมิภาคเอเชียต่อไป