นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ.ได้ดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันสู่ตลาดโลก พร้อมทั้งรองรับกับความต้องการในประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเป้าหมายของการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียและรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 และถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมในอนาคตได้อีกด้วย ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงหน่วยงานทางการแพทย์ทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน
โดยมีการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Medical and Health Industry ที่สำคัญของอาเซียนภายในปี 2020 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักเพื่อมุ่งหวังในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำไว้ดังนี้ คือ 1. การสร้างความร่วมมือและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ 3. การตลาดและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคผ่านการส่งเสริม เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้ 4. การพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 5.การใช้มาตรการด้านการเงิน การคลังและการจัดซื้อของภาครัฐ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้เอื้อต่อการแข่งขัน การเร่งรัดปรับปรุงขั้นตอนการออกสิทธิบัตร และ 6. การสร้างความเชื่อมั่นและการส่งเสริมการลงทุน ผ่านการศึกษาโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมและชักชวนนักลงทุน
ในปี 2555 สศอ.ได้จัดทำโครงการนำร่องขึ้น 3 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 ที่เป็นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งได้ให้สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีโรงงานนำร่องที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 49 ราย โรงงานที่เข้าร่วมพัฒนา Productivity ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 15 จำนวน 17 ราย และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 จำนวน 32 ราย ในส่วนของการพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 นั้น ถือเป็นมาตรฐานระบบการบริหารจัดการสำหรับอุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การค้ากับประชาคมอาเซียน (AEC) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดสากลได้อย่างมีคุณภาพ ในขณะนี้มีทีมที่ปรึกษาได้เข้าไปให้คำแนะนำด้านการสร้างประสิทธิภาพที่จะเกิดแก่อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ถึงขีดสุด ทั้งการบริหารจัดการ/การผลิตที่จะดีขึ้น พัฒนาระบบ Logistics ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตลง ลดการใช้พลังงาน ช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียในกระบวนการผลิต รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาให้อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน ISO 13485 เทียบเท่าสู่ระดับสากล
ส่วนของโครงการที่สอง คือโครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตวัสดุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและสามารถพัฒนานวัตกรรมด้านการออกแบบให้มีความทันสมัยเหมาะสมแก่ผู้ใช้มากขึ้น ต่อยอดความสำเร็จไปสู่คุณภาพที่ได้รับการยอมรับทั้งในวงการแพทย์และได้มาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็ก 2. กลุ่มตรวจวินิจฉัยด้ายการเทคโนโลยีแพทย์ทางไกล 3. กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป และ 4. กลุ่มอุปกรณ์เพื่อการป้องกันและช่วยเหลือ ที่จะมีการดำเนินงานทั้งการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์(R&D/Design) ผ่านการทดสอบทางคลินิก (Clinical Trial) เพื่อให้ได้ผลการทดสอบทางการแพทย์นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานสากล (CE Mark/UL) รวมไปถึงการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตและพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ไม่สามารถออกวางจำหน่ายสู่ตลาด หรือผู้ประกอบการบางรายเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมากกับการทดสอบที่เกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้
สำหรับโครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation เป็นการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกแก่อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ตั้งแต่การผลิตต้นทางจนถึงการจัดจำหน่ายให้กับผู้ใช้ในประเทศ นำไปสู่ทิศทางการพัฒนาในอนาคต ช่วยแสวงหาช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ตลอดจนพิจารณาการพัฒนาระบบปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งด้านระบบข้อมูล ระบบ Logistics และบุคลากร ที่ผ่านมาพบว่าอุปกรณ์ที่ผลิตส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก โดยเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ยาง พลาสติก แต่กลับมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีและมีมูลค่าสูงจากต่างประเทศ ทาง สศอ. จึงได้ประสานความร่วมมือไปกับทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะประเทศไทยมีฐานการผลิตที่เกี่ยวเนื่องและมีความเข้มแข็ง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น พร้อมทั้งหน่วยงานวิจัยและภาคการศึกษาที่เข้ามารองรับ อันจะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปสู่การผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มี Value Creation ที่สูงขึ้นได้
“จากยุทธศาสตร์ที่ได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ออกไป ทำให้เกิดการตื่นตัวในภาคอุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทาง สศอ. กำลังดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการรองรับยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นในทุกๆ ด้าน เช่น การพัฒนามาตรฐานและห้องปฏิบัติการทดสอบ การสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลต่างๆ การปรับปรุงเพิ่มเติมบัญชีรายการเครื่องมือแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศให้พัฒนาก้าวสู่ตลาดในระดับสากล” นายโสภณ กล่าว
ติดต่อ:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
085 020 2056