นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำเเหน่งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวถึง การจัดประชุมสัมนา โครงการ สร้างความเข้าใจกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้แทนเกษตรกร ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำ ชี้เเจง และสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ นโยบาย หลักเกณฑ์ และกระบวนการชำระหนี้แทนเกษตรกรของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร (กฟก.) ให้กับองค์กรพันธมิตรเกษตรกร ในการการชำระหนี้แทนเกษตรกรนั้นดำเนินได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการติดตามผลงานหลังจากที่เกษตรกรได้รับการชำระหนี้แทนเกษตรกร
จังหวัดสุพรรณบุรีมีสมาชิกองค์กรเกษตรกรจำนวน 124,901 ราย และยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบันมีจำนวน 11,444 ราย เฉพาะในส่วนที่เป็นหนี้กับสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) จำนวน 22 แห่ง และสามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้แล้วจำนวน 1,029 ราย เป็นจำนวนเงิน 126 ล้านบาท และยังรอเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้แทน 5,872 ราย
“ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้กำหนดให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการส่งเสริมของรัฐ และหนี้ในระบบที่เกิดจากสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) สถาบันเกษตรกร(สหกรณ์) และนิติบุคคลที่คณะกรรมการกำหนด มีสาเหตุการเป็นหนี้อันเนื่องจากเกษตรกรรม ต้องเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทะเบียนหนี้) กับ กฟก.เพื่อขอรับการจัดการหนี้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด” การดำเนินการที่ผ่านมาพบกระบวนการชำระหนี้แทนเกษตรกร ในส่วนของสหกรณ์ยังล่าช้า เนื่องจาก สหกรณ์ยังขาดความเข้าใจในกระบวนการชำระหนี้แทนเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูฯในด้านต่างๆ เช่น หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติขอเกษตรกรสมาชิกที่สามารถเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้แทน เอกสารประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการชำระหนี้แทน อีกทั้งเกษตรกรในพื้นที่ยังไม่เข้าใจในกระบวนการดำเนินการงานของสำนักงานฟื้นฟูฯ ในขั้นตอนวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกรและการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ เลขาธิการ กล่าว
นางบุญชู ดวงเเก้ว สมาชิกกลุ่มองค์กรพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช เล่าว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วได้เอาที่ดินทั้งสองแปลงไปจำนองกับสถาบันการเงินเพื่อเอาเงินมาลงทุน ปลูกอ้อยเเละมันสำปะหลัง ในที่ดินของตนเอง 2 แปลง แปลงเเรก 28 ไร่ แปลงที่สอง 21 ไร่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีหนี้สินตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนี้สหกรณ์ หนี้โรงงานน้ำตาล และหนี้สถาบันการเงินที่กู้มา ซึ่งในขณะนั้นหาทางออกไม่ได้ และได้มาขอคำปรึกษากับนางบุญชู มณีวงศ์ ประธานกลุ่มองค์กรพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช ที่เป็นผู้แนะนำให้ทราบถึง กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้แทนเกษตรกร ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จากนั้นก็ได้ศึกษาถึงขั้นตอน กระบวนการ เเละยื่นเอกสารไปยัง กฟก. ช่วยเหลือเรื่องการจัดการหนี้สิน ซึ่งขณะนี้ กฟก. ได้ซื้อหนี้คืนจากสถาบันการเงินได้เเล้วจำนวน 1 แปลง ในส่วนที่เหลือ กฟก. อยู่ระหว่างการดำเนินการ วันนี้ถ้าไม่มี กฟก. ยื่นมือมาช่วยเหลือเกษตรกร เราชาวเกษตรกรคงไม่เหลือที่ดินไว้ทำมากิน