รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนใต้ จะช่วยให้สามารถเข้าใจบริบทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมค่อนข้างสูง และช่วยให้เข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดจากระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมไปถึงสามารถพัฒนาระบบการศึกษา ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านการศึกษาจากการทำโครงการนี้ได้อย่างบูรณาการมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว สามารถนำไปเป็นแนวทางการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่อไป
ดร.แสนศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าว เป็นการทำงานต่อเนื่องจากที่สถาบันพระปกเกล้า โดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อเยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ในเส้นทางสันติวิธีกับระบบการศึกษาที่เหมาะสมในระดับอุดมศึกษา ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ไปก่อนหน้านี้ โดยมีกลุ่มนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุดมศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ร่วมนำเสนอมุมมองที่หลากหลายต่อระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการนำเสนอในครั้งนั้นนักการศึกษาอุดมศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมและสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของประชาชน