รฟท. จับมือ มจธ. เสริมกำลังพัฒนาระบบราง

ศุกร์ ๐๓ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๕:๕๔
มจธ. เสริมกำลัง รฟท. ทุ่มงบ 10 ล้าน เร่งผลิตนักศึกษารถไฟ พัฒนาสถาบันระบบรางภาคพื้นอาเซียน ต่อยอดประสบการณ์จากโจทย์ปัญหาจริงที่รอการแก้ไข คาดลดงบประมาณ และอุบัติเหตุทางรถไฟ

คุณยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการแสดงนิทรรศการและนำเสนอผลงานทางวิชาการ (Track II) สำหรับนักศึกษาโครงการความร่วมมือพัฒนาบุคลากรการรถไฟแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ทศวรรษใหม่...การรถไฟไทย” เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านว่า รฟท.ต้องการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานให้เป็นฐานกำลังสำคัญในการก่อตั้งและพัฒนาสถาบันระบบรางภาคพื้นอาเซียน แต่ติดปัญหา รฟท.สามารถรับบุคคลเข้าทำงานเพียงร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น จึงจัดทำโครงการ “ความร่วมมือเพื่อก่อตั้งและพัฒนาสถาบันพัฒนาระบบรางภาคพื้นอาเซียน”เปิดโอกาสให้บุคลากรใน รฟท.ที่มีความรู้ประสบการณ์อยู่ในงานมาศึกษาเพิ่มเติม เป็นเวลา 2 ปีโดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้กำหนดหลักสูตร และรูปแบบการศึกษา ส่วน รฟท.เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษาในทุกด้าน ซึ่งในแต่ละปีจะมีงบประมาณสำหรับทุนการศึกษาปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งปีการศึกษา 2555 นี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว

ทางด้าน ผศ.ดร.กิติเดช สันติชัยอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์โยธา มจธ.หัวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่าง รฟท.-มจธ. กล่าวว่าโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษาแรกคือปี 2553 โดยมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 36 คน และในปีการศึกษา 2554 มีนักศึกษารุ่นที่สองจำนวน 56 คน ภายใต้ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจธ. โดยมีศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง (ศศต.) เข้าร่วมดำเนินงานกับโครงการ และได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ และศิลปะศาสตร์

“โครงการนี้รับสมัครบุคลากรใน รฟท.ที่มีวุฒิ ปวส. มาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ มจธ. เป็นเวลา 2 ปี ในสาขาเทคโนโลยีเครื่องกล สาขาเทคโนโลยีการก่อสร้าง สาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า และสาขาใหม่ที่เปิดในปีการศึกษา 2555 นี้คือสาขาเทคโนโลยีการจัดการ (การเดินรถ) ซึ่งเป็น 4 หัวใจหลักของ รฟท. ภายใต้หลักสูตรที่ มจธ. ออกแบบ โดยพัฒนาต่อยอดหลักสูตรร่วมกับประสบการณ์ทำงานของคน รฟท. เพื่อพัฒนาศักยภาพ และทักษะในทุกด้านของนักศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรของ รฟท.ให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานได้มากที่สุด ซึ่งนักศึกษาจะนำโจทย์ปัญหาที่พบระหว่างการทำงาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขมาทำโครงงาน”

นายวีรวุฒิ ยอดเปลี่ยน นักศึกษา รฟท.พนักงานรถจักร ฝ่ายการช่างกล เจ้าของโครงงาน “การศึกษาเครื่องกั้นอัตโนมัติ” กล่าวถึงเหตุจูงใจที่ทำโครงงานนี้ว่า เครื่องกั้นทางตัดรถไฟที่ใช้ในปัจจุบันมีราคาสูงถึงเครื่องละประมาณ 4 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟยังขาดงบประมาณในการจัดจ้างเอกชนมาดำเนินงาน ทำให้ขณะนี้มีทางตัดรถไฟที่ยังไม่มีเครื่องกั้น มากถึง 700 กว่าจุดทั่วประเทศไทย จากข้อมูลเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ตนและเพื่อนจึงช่วยกันคิดชุดเครื่องกั้นซึ่งคาดว่าจะมีราคาต่ำกว่าการจัดจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการอย่างแน่นอน

“เครื่องกั้นระบบเดิมต้องซื้อจากต่างประเทศมีราคาสูง และต้องให้คนจากบริษัทมาติดตั้งสายส่งสัญญาณเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งรฟท.ไม่สามารถทำเองได้ จึงต้องจัดจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการเท่านั้นเสียทั้งค่าเครื่องและค่าแรงงาน โดยการทำงานของเครื่องกั้นแบบเดิม จะติดตั้งสายแท็กไว้ที่ประมาณ 1,034 เมตร ก่อนถึงทางตัด เมื่อรถไฟวิ่งผ่านมาเหยียบสายแท็กจะส่งสัญญาณไปตามสายที่ฝังไว้ใต้ดินจนถึงเครื่องรับสัญญาณทำให้เครื่องกั้นทำงาน แต่ระบบใหม่ที่ผมศึกษาเป็นเครื่องกั้นอัตโนมัติไม่ต้องฝังสายสัญญาณ โดยจะติดตั้ง Sensor ไว้ที่ระยะเท่ากันคือ 1,034 เมตร ก่อนถึงเครื่องกั้น และเมื่อหัวรถไฟวิ่งผ่าน Sensor จนกระทั่งพ้นท้ายขบวน Sensor จะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุไปยังตัวรับสัญญาณที่ติดอยู่ที่เครื่องกั้นและทำงานทันที และเนื่องจากระบบนี้ใช้คลื่นความถี่ในการควบคุม จึงไม่ต้องใช้พนักงานในการควบคุมเครื่องกั้น และลดต้นทุนให้ รฟท.ด้วย” นายวีรวุฒิกล่าว

และอีกโครงงานที่น่าสนใจคือเรื่อง ระบบสนับสนุนการหยุดขบวนรถไฟจากภาคพื้นดิน ของ นายไพทูน สนโศก นักศึกษา รฟท.และพนักงานรถจักร งานรถดีเซลรางกรุงเทพฯ ฝ่ายการช่างกล ที่ได้กล่าวถึงเหตุผลในการศึกษาโครงงานนี้ว่า ระบบการหยุดขบวนรถไฟจากภาคพื้นดินที่ใช้ในปัจจุบันมีการชำรุดเสียหายจำนวนมาก ซึ่งระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำงานโดยติดตั้งกระเดื่องภายในหัวรถไฟเพื่อให้พนักงานขับรถไฟ ตอบสนองกับระบบโดยเหยียบกระเดื่องเป็นระยะทุก 8-10 วินาทีเพื่อเช็คสมรรถภาพของพนักงานขับรถไฟว่ายังมีสติ ไม่เหม่อลอย หรือหลับ แต่หากเกิน 8-10 วินาทีแล้วพนักงานขับรถไฟไม่มีการโต้ตอบกับระบบหรือไม่ได้เหยียบกระเดื่อง ระบบจะทำการเตือนโดยจะมีเสียงออดดังขึ้น 8 วินาที เพื่อปลุกให้ตื่น แต่ถ้า 8 วินาทีผ่านไปยังไม่มีการตอบสนองจากพนักงาน ออดจะดังอีก 4 วินาที และดังมากซึ่งถ้าหลังจาก 4 วินาทีแล้วยังไม่มีการตอบสนองอีกระบบจะทำการตัดการขับเคลื่อนทั้งหมด และระบบเบรกฉุกเฉินจะทำงานทันที แต่เนื่องจากระบบการหยุดรถนี้เก่ามากเพราะถูกติดตั้งมาพร้อมกับตัวรถไฟซึ่งมีอายุประมาณ 37 ปีมาแล้ว ทำให้ระบบเสียบ่อยจึงต้องงดการใช้งาน ส่งผลให้ภาระในการควบคุมรถไฟตกอยู่ที่พนักงานขับรถเพียงคนเดียว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ในหลายปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุทางรถไฟเกิดขึ้นหลายครั้งเนื่องจากระบบหยุดรถไม่ทำงาน หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยจากการทำงานหนักของพนักงานขับรถไฟ เช่น เป็นลม หรือหัวใจวายเหมือนที่มีข่าวว่าเดือนที่ผ่านมามีพนักงานขับรถไฟเกิดหัวใจวายติดกัน 4 คนเนื่องจากทำงานหนัก

“อุบัติเหตุรถไฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่สถานี ทั้งๆ ที่นายสถานี หรือพนักงาน รับรู้ก่อนเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากระบบควบคุมการขับเคลื่อนและระบบเบรกทั้งหมดอยู่บนรถไฟ ไม่มีอุปกรณ์จากภาคพื้นดินที่จะช่วยหยุดขบวนรถไฟได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงผมจึงคิดศึกษาระบบสนับสนุนการหยุดรถไฟจากภาคพื้นดินโดยใช้วิทยุสื่อสารเป็นตัวควบคุม ซึ่งจะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณไว้ทุกสถานี ถ้าหากนายสถานีไม่สามารถติดต่อกับพนักงานขับรถไฟได้ขณะที่ขบวนรถกำลังวิ่งเข้าสู่สถานี หรือในกรณีที่ขบวนรถไฟวิ่งผ่านสถานีแล้วเห็นความผิดปกติของขบวนรถ หรือตัวพนักงานบนรถไฟ นายสถานีสามารถกดเครื่องส่งสัญญาณที่สถานี และระบบจะแปลงเป็นรหัสวิทยุส่งไปยังเครื่องรับสัญญาณที่ติดตั้งไว้ที่หัวรถไฟทุกขบวนให้ทำการเตือนด้วยเสียงออดดังบนหัวรถไฟประมาณ 10 วินาที เพื่อเช็คว่าพนักงานบนรถไฟยังมีสติที่จะควบคุมรถหรือไม่ และเมื่อออดดังครบ 10 วินาทีแล้วไม่มีการตอบสนองจากพนักงานบนรถไฟ ระบบจะทำการตัดการขับเคลื่อนรถไฟทั้งหมด พร้อมทั้งระบบเบรกฉุกเฉินจะทำงานทันที เพื่อหยุดรถ ภายในรัศมีการทำงาน 1.5 - 2 กิโลเมตร แต่หากขบวนรถไฟวิ่งพ้นรัศมีการทำงานของสัญญาณไปแล้ว นายสถานีจะแจ้งไปยังสถานีถัดไปให้กดเครื่องส่งสัญญาณต่อไป” นายไพทูนกล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสนับสนุนการหยุดขบวนรถไฟจากภาคพื้นดินถือเป็นระบบป้องกันความผิดพลาดของมนุษย์ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจากรถไฟอีกทางหนึ่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version