นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าตามแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านการจัดการความเสี่ยงที่ต้องพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินการปัจจุบันของ สคฝ.จึงยึดเรื่อง “การบริหารความเสี่ยง” เป็นหัวใจสำคัญ โดยจะมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์เสมอ รวมทั้งการจัดทำแผนจำลองสถานการณ์วิกฤติต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันฯ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับยุทธศาสตร์และการดำเนินกลยุทธ์การคุ้มครองเงินฝากได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลที่สถาบันประกันเงินฝากทั่วโลกต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรองรับ โดยได้มีการจัดทำกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเชิงบูรณาการ อาทิ กรอบนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ กรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ กรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านการคุ้มครองเงินฝาก และกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
สำหรับกรอบนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจนั้น ล่าสุด สคฝ.ได้มีการนำแผนการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ ( Business Continuity : BCP) มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้องค์กรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเหตุการณ์ฉุกเฉิน จึงเตรียมจัดทำคู่มือจำลองอุบัติภัยต่างๆที่ไม่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพื่อทดสอบระบบ ขั้นตอนการทำงาน วิธีการ และระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน มีการสำรองข้อมูลเพื่อให้สามารถกอบกู้ทำให้การปฏิบัติงานขององค์กรดำเนินต่อเนื่องได้โดยเร็วและเป็นระบบตามระยะเวลาที่กำหนดภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงของ สคฝ. โดยได้มีผู้บริหารและพนักงานทุกฝ่ายเข้าร่วมซักซ้อมความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบการชำระบัญชี ระบบวิเคราะห์สถาบันการเงินและจ่ายคืนผู้ฝาก ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง ระบบบริหารเงินกองทุน
ส่วนกรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล ปัจจุบัน สคฝ.ได้ผ่านการประเมิน “การรับรองมาตรฐานในการจัดการระบบการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศและข้อมูลองค์กรในระดับสากลหรือ ISO/IEC 27100:2005” ที่แสดงถึงการที่องค์กรได้มีการควบคุมและป้องกันความปลอดภัยทางสารสนเทศต่างๆ อย่างเหมาะสมและพอเพียง ซึ่งจะต้องมีความถูกต้องครบถ้วน (Integrity) รักษาไว้ซึ่งความลับ(Confidentiality) และมีความพร้อมใช้งาน ( Availability) ซึ่งปัจจุบันประเด็นเรื่องความปลอดภัยของสารสนเทศนี้กำลังเป็นมาตรฐานโลกที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ
และที่สำคัญตามที่ สคฝ.มีพันธะกิจหลักในการการจ่ายคืนผู้ฝาก การชำระบัญชี และการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีประสิทธิภาพนั้น สถาบันจึงมีกรอบการบริหารความเสี่ยงในการคุ้มครองเงินฝากและด้านสภาพคล่องโดยมุ่งเน้นให้มีกรอบการดำเนินการตั้งแต่การระบุความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเงินฝาก การประเมินหรือวัดค่าความเสี่ยงจากการคุ้มครองเงินฝาก หรือมีการประเมินค่าความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งรวมถึงการระดมทุนและฐานะสภาพคล่องในการจ่ายคืนผู้ฝาก การมีระบบการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เหมาะสม มีการติดตามและการรายงานความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
อนึ่ง สคฝ.ยังได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ประกอบด้วยคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจากทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย เป็นที่ปรึกษาในการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านการลงทุนและงานด้านอื่นๆ ทั้งในเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติเพื่อประเมินโอกาสและผลกระทบต่างๆ และเตรียมแผนบริหารจัดการความเสี่ยงต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินว่า สคฝ.มีการดำเนินงานอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ฝากเงิน