นายร้อย จปร. คว้าชัยในการประกวด 2012 SIFE Thailand National Exposition

จันทร์ ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๐๘:๔๐
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก คว้าชัยชนะในโครงการประกวด ผลสำเร็จโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 2012 หรือ 2012 SIFE Thailand National Exposition ที่เพิ่งปิดฉากลงไป โครงการเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จัดโดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว และผู้บริหารโครงการ SIFE Thailand ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยทีมผู้ชนะสามารถโค่นแชมป์เก่าอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ครองแชมป์มา 3 ปีซ้อน โดยการประกวดปีนี้มีเหล่านิสิตนักศึกษาจากรั้วสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่มีจิตอาสาพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ร่วมเข้าประกวดถึง 26 แห่ง และผู้ชนะยังจะเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน “2012 SIFE World Cup” ชิงชัยกับตัวแทนจากประเทศต่างๆ 39 ประเทศทั่วโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 กันายนถึง 2 ตุลาคมศกนี้ โดยได้รับความสนับสนุนจากนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

จาก 26 สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ สู่รอบตัดเชือก 3 ทีมสุดท้าย ได้แก่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก กับโครงการ Much — Rooms Community ผู้สร้างพลังความเข้มแข็งให้กับชุมชน ที่ให้ความรู้ชาวบานผลิตก้อนเชื้อเห็ดและเพาะเลี้ยงเห็ด, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร กับโครงการต่อยอดองค์ความรู้ ฟื้นฟูชายฝั่งอย่างยั่งยืน ที่ปลูกฝังให้ชาวบ้านรู้จักการทำประมงริมชายฝั่งเชิงอนุรักษ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร กับโครงการ Soil Booster หยุดการใช้ปุ๋ยสารเคมี สู่การใช้ปุ๋ยและน้ำหมักมูลหมักไส้เดือน ผลปรากฏว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก กับโครงการ Much — Rooms Community ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว ผู้บริหารโครงการ SIFE Thailand เผยว่า “ผู้ชนะในปีนี้ คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกจิตอาสาในการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืน เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความแตกต่างไม่เหมือนที่อื่น เพราะเขาไม่มีคณะเศรษฐศาสตร์ ไม่มีคณะบัญชี แต่เขาลงพื้นจริง ที่เป็นเสมือนตำรานอกห้องเรียน พวกเขาได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ว่าปัญหาของชุมชนคืออะไร พร้อมกับปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจ แก้ไขและพัฒนา ไม่ใช่แยกกันอยู่ แยกกันคิด ในเชิงเศรษฐกิจเขาก็ทำได้ดีมาก ที่ให้คนในชุมชนผลิตก้อนเชื้อเห็ด และปลูกเห็ดเพื่อสร้างรายได้ จะเห็นได้จากตัวเลขของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการให้คนในชุมชนรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยสารเคมี แต่หันมาใช้ก้อนเชื้อเห็ดที่เสื่อมสภาพที่ได้นำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทน พร้อมทั้งยังมีการวัดผลด้วยแผนระยะสั้น 1-2 ปีที่คนในชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้ แผนระยะกลาง 3-5 ปี ที่คนในชุมชนสามารถจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อเป็นผู้ผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์เห็ด และแผนระยะยาว 5-10 ปี ที่คนในชุมชนสามารถขยายการผลิตและพัฒนาสู่การส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ต้องยอมรับว่าทีมนี้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะทลายกำแพงในใจของคนในหมู่บ้าน มาเป็นพลังความสามัคคี เพื่อขับเคลื่อนให้ก่อเกิดเศรษฐกิจระดับภายในชุมชน”

ด้านผู้ชนะ ไตรสรณ์ หมวกแก้ว หัวหน้าทีม SIFE CRMA จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้ เผยว่า “โครงการ Much — Rooms Community เป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ซึ่งสาเหตุที่เลือกหมู่บ้านท่าชัย จังหวัดนครนายก เพราะเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีปัญหาความขัดแย้งของคนภายในหมู่บ้าน เนื่องจากเดิมที่ชาวบ้านอำเภอท่าชัยเป็นกลุ่มชาวบ้านเดิมเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่มีกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาเพราะถูกเวนคืนที่ดินจากเหนือเขื่อนขุนด่านปราการชล จากความไม่รู้ สู่ความไม่เข้าใจ และไม่กล้าที่จะพูดคุยกัน จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนนี้มีวิถีชีวิตและดำรงชีพแบบเดิมๆ ด้วยการหาของป่า ทำสิ่งผิดกฏหมาย และยากจน เป็นต้น ทางทีมมีเป้าหมายที่จะต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับรายได้ของคนในชุมชน จุดเด่นของทีมเราคือการสร้างพลังชุมชนขึ้นมาครับ ทำให้เขาสามารถแก้ปัญหาได้ในทุกๆ มิติ ผ่านการทำก้อนเชื้อเห็ดและเพาะปลูกเห็ด โดยทางทีมเป็นผู้สร้างเครือข่ายให้ความรู้ในเรื่องของการทำก้อนเชื้อเห็ดและเพาะปลูกเห็ด มีการจัดระบบในเรื่องการบริหาร การจัดการด้านการตลาด ซึ่งเห็ดเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตไว เพียงใช้เวลา 25-28 วัน สามารถเก็บนำไปจำหน่ายได้ โดยให้ชาวบ้านรวมตัวกันในรูปแบบของสหกรณ์ โดยใช้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน ผลที่ได้จากการดำเนินงาน ชาวบ้านรักและสามัคคีกัน ลดปัญหาในเรื่องของสิ่งผิดกฏหมาย เกิดชุมชนแหล่งการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และยังพบว่าชาวบ้านนั้นมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมที่ชาวบ้านมีรายได้วันละ 179.18 บาท เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 741.68 บาท และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการบริโภค เพราะนำเห็ดที่ได้จากการเพาะปลูกมารับประทานกันเองในครัวเรือน และยังเพิ่มรายได้โดยการจำหน่ายเห็ด รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จาการนำก้อนเชื้อเห็ดที่เสื่อมสภาพมาทำเป็นปุ๋ย และยังได้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพราะชาวบ้านลดการใช้ปุ๋ยเคมี แต่หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน ดังนั้นรางวัลชนะเลิศที่ได้รับในครั้งนี้ คือสิ่งตอบแทนในความตั้งใจและการทำงานที่ทุ่มเทของทีม แต่สิ่งที่ภูมิใจยิ่งกว่าคือการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านท่าชัย มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเสียแชมป์ในปีนี้ ณัชพล ดำรงธรรมวุฒิ หัวหน้าทีม Chula SIFE เผยว่า “โครงการ Soil Booster เป็นโครงการที่พัฒนาและสานต่อมากว่า 3 ปี ที่นำสิ่งมีชีวิตอย่างไส้เดือนมาย่อยสลายขยะอินทรีย์จนได้ปุ๋ยและน้ำหมักมูลไส้เดือน โดยปีนี้ทางทีมได้ต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมสู่การทำ Eco House ศูนย์ธุรกิจกึ่งสำเร็จรูปเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ควบรวมองค์ความรู้ Soil Booster ที่ศึกษาค้นคว้าพัฒนามาตลอด 3 ปี เข้ากับความรู้ด้านธุรกิจและเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการขายผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนและการเกษตร ซึ่งจุดเด่นของโครงการคือการที่ทางทีมเลือกกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสทางสังคมอย่างมูลนิธิบ้านความหวังเมตตา ซึ่งเป็นน้องๆ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาทางครอบครัว กำพร้า ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้ ในด้านเศรษฐกิจนั้น น้องๆ เหล่านี้จะได้รับทักษะในการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำปุ๋ยและน้ำหมักมูลไส้เดือนที่ได้ไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ยังมีรายได้เพิ่มจากผลผลิตที่น้องๆ ได้เลี้ยงเป็ด ไก่ และปลา โดยให้ไส้เดือนเป็นห่วงโซ่อาหารของเป็ดและไก่ ซึ่งสามารถออกไข่ในปริมาณที่มาก และสีของไข่แดงยังมีสีที่แดงมาก เพราะได้โปรตีนจากการกินไส้เดือน ในส่วนของปลานั้นก็เนื้อแน่น ที่สำคัญน้ำหมักมูลจากไส้เดือน สามารถใส่ลงไปในบ่อเพื่อช่วยปรับสภาพน้ำเน่าเสียได้อีกด้วย ซึ่งส่งผลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมน้องๆ ยังได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว และน้องๆ ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงจากการรับประทานผักที่ปลอดสารพิษ เพราะเลี้ยงเพาะปลูกด้วยปุ๋ยและน้ำหมักมูลไส้เดือน ลดปริมาณขยะลงเพราะนำไปเลี้ยงไส้เดือน ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าอาหาร เพราะนำสิ่งที่เลี้ยงไว้มาใช้ในการบริโภค และยังลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อมาปลูกผัก ที่เวลานี้มูลนิธิบ้านความหวังเมตตาสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 13,085 บาท คิดเป็น 32% ของค่าอาหาร และลดขยะได้ 540 กิโลกรัมต่อเดือน โดยทางทีมได้วัดผลความสำเร็จของโครงการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะอยู่ดี เพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้สารเคมี ผ่านการเลี้ยงไส้เดือนควบคู่ไปกับการเกษตรรูปแบบต่างๆ ระยะมีสุข สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ระยะแบ่งปัน คือการส่งต่อความรู้ในการทำธุรกิจไส้เดือนให้บุคคลอื่นต่อๆ ไป โดยเวลานี้น้องๆ จากมูลนิธิบ้านความหวังเมตตา สามารถแบ่งปันความรู้จากการเพาะเลี้ยงไส้เดือนให้กับเกษตรกร และชุมชนบริเวณโดยรอบได้ ถึงแม้ว่าปีนี้จะต้องเสียแชมป์ไป แต่การได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้สามารถยืนหยัดต่อไปอย่างยั่งยืน นับเป็นเกียรติและมีค่ามากสำหรับพวกผมครับ”

ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบพงศ์ ภาสเวคิน หัวหน้าทีม SIFE Kaset เผยว่า “สำหรับ โครงการ ต่อยอดองค์ความรู้ ฟื้นฟูชายฝั่งอย่างยั่งยืน จุดเด่นของเราคือ กระบวนการทางความคิดครับ ทีมเราได้นำกระบวนการทางความคิดไปปรับเปลี่ยนมุมมองของชาวบ้านชุมชนดาราสมุทร ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ที่ใกล้กับกรุงเทพ และโครงการของทีมเราสามารถใช้ได้จริง ซึ่งคนที่นี่อาชีพดั้งเดิมคือการทำประมงริมชายฝั่งด้วยการเลี้ยงหอยแมลงภู่ แต่รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ในขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เริ่มที่จะทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไม่สานต่ออาชีพประมงของคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ทางทีมจึงได้จัดทำคู่มือ First Aid คิด ขึ้นมา โดยมีแนวคิดว่า เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน โดยเริ่มจากพื้นฐานครอบครัวก่อน เพราะเป็นสถาบันแรกของการเริ่มต้นชีวิต ซึ่งภายใน First Aid คิด จะประกอบด้วยคู่มือต่างๆ อาทิ คู่มือรักษ์หอย สำหรับหัวหน้าครอบครัว หรือ พ่อ ซึ่งจะให้ความรู้ในเรื่องของการประมงเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ จากเดิมที่ชาวบ้านจะจับสัตว์น้ำเพื่อไปจำหน่ายจดหมด บางครั้งสัตว์น้ำต่างๆ นั้นยังไม่โตเต็มวัย พร้อมกับให้เปลี่ยนเป็นการเลี้ยงหอยด้วยแพเชือก เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศวิทยาแทนการเลี้ยงด้วยวิธีปักไม้ไผ่ โดยการเลี้ยงหอยจะใช้เวลา 7-8 เดือน เมื่อถึงเวลาให้เก็บหอยไปจำหน่ายเพียง 80% เท่านั้น ส่วนอีก 20% เลี้ยงต่อเพื่อให้ออกลูกหลานต่อไป กระทั่ง 7-8 เดือนข้างหน้าค่อยเก็บหอยอีก 20% ที่เหลือไปจำหน่าย ซึ่งเวลานั้นจะได้กำไรมากขึ้น เพราะหอยที่นำไปจำหน่ายในรอบนี้ มีขนาดตัวที่ใหญ่ เนื้อเยอะขึ้น ทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 24,000 บาทต่อปี คิดเป็น 12% และยังสามารถจับสัตว์น้ำที่มาอาศัยอยู่บริเวณแพทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก ต่อมาจากการสำรวจพบว่าแม่บ้านจะเป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายของครอบครัว เนื่องจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่สามารถสร้างรายได้แค่ปีละครั้ง ดังนั้นเงินที่เหล่าแม่บ้านดูแลจึงต้องจัดสรรอย่างระมัดระวัง เพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี ดังนั้นคู่มือต่อมาคือ คู่มือสุขภาพทางการเงิน ที่จะบรรจุความรู้เรื่องประโยชน์ของการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย วิธีออมเงินอย่างไรให้รวย และการเพิ่มรายรับลดรายจ่าย นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องคิดเลข เพื่อให้แม่บ้านสามารถคำนวน และตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยไป ในส่วนของลูก ปลูกฝังเรื่องของจิตสำนึกรักบ้านเกิดผ่านแรงบันดาลใจ เช่นการวาดรูป พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการให้เด็กมีส่วนร่วมกับธรรมชาติโดยการปลูกต้นไม้ในโรงเรียน และสอนให้รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อการประหยัดอดออม ตลอดระยะเวลา 1 ปี จากการทำโครงการ สำรวจพบว่าในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการทำประมงริมชายฝั่งเชิงอนุรักษ์ โดยได้มีการรวมตัวกันเผยแพร่ความรู้ให้ชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียงในการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ลูกหลานเห็นความสำคัญของการทำประมงริมชายฝั่งเชิงอนุรักษ์ และอยากสานต่ออาชีพของบรรพบุรุษ ในเชิงเศรษฐกิจพร้อมรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ มีอำนาจต่อรองในเรื่องของราคากับพ่อค้าคนกลางได้ กลุ่มแม่บ้านรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่าย จนมีเงินเหลือนำไปลงทุนสร้างรายได้ในด้านอื่นๆ การเข้ามาร่วมโครงการในครั้งนี้ก็ได้คำแนะนำมาจากรุ่นพี่ และได้ลองมาทำดู แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีค่ามากๆ เป็นการที่เราได้พัฒนาตัวเองก้าวไปอีกระดับหนึ่ง และการพัฒนานี้ก็สามารถ นำไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวันด้วย โครงการของเราเป็นโครงการระยะยาว ซึ่งเราจะคอยติดตามผลและพัฒนาต่อไปให้ดีที่สุดครับ”

2012 SIFE Thailand National Exposition โครงการประกวดผลสำเร็จโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน นับเป็นโครงการดีๆ ที่ยั่งยืน ที่ให้เยาวชนไทยได้แสดงพลังศักยภาพทางความคิด และจิตอาสาที่เป็นเสมือนรากแก้วของแผ่นดิน หากพลังของเยาวชนไทยมีเพิ่มมากขึ้นเพียงใด รากแก้วของแผ่นดินนี้ก็จะยิ่งหยั่งรากความมั่นคงลึกลงไป เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทัดเทียมเท่านานาประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ