Movie: จันดารา ปฐมบท

จันทร์ ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๑:๐๕
กำหนดฉาย 6 กันยายน 2555

แนวภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า

บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ

ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์

กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

กำกับคิวบู๊ พันนา ฤทธิไกร

กำกับภาพ พนม พรมชาติ

ออกแบบงานสร้าง พัฒน์ฑริก มีสายญาติ

กำกับศิลป์ นิติ สมิตตะสิงห์

ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์

เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ

ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์

ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์

แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด

ทีมนักแสดง มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์,บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม, โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ,เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฯลฯ

มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม “จันดารา ปฐมบท”

เรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) เริ่มต้นนับตั้งแต่เขาถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ณ บ้านพิจิตรวานิชในปี พ.ศ. 2458 เขาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความตายของมารดาโดยไม่คาดฝัน นั่นทำให้ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้เป็นบิดาได้ลงโทษทัณฑ์เขาอย่างทารุณราวกับว่าเขาไม่ใช่ลูก พร้อมเรียกขานเขาว่า “ไอ้จัญไร”

ที่เรือนเล็กในสวนหลังบ้าน จันเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของ “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ญาติสนิทของมารดาจากเมืองพิจิตร และมี “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) ลูกชายแม่ครัวในบ้านเป็นสหายสนิทเพียงคนเดียวที่จันสามารถเล่าทุกอย่างให้ฟังได้

ต่อมาน้าวาดได้ตกเป็นภรรยาของคุณหลวง และให้กำเนิดลูกสาวสาวชื่อ “คุณแก้ว” หรือ “วิไลเลข” (โช นิชิโนะ) อันเป็นที่รักยิ่งของคุณหลวงซึ่งสอนให้หล่อนเกลียดชังจันตั้งแต่จำความได้

ตัวคุณหลวงเองนั้นก็มักมากในกาม บริวารหญิงแทบทั้งสิ้นในบ้านล้วนตกเป็นเมียลับของเขา ซึ่งเมื่อเขามีอารมณ์ที่จะสังวาสกับหญิงคนใดก็กระทำการอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นเวลาใดหรือมุมใดในบ้านหลังนั้นอย่างเสรี จนทำให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นจัน ดารา, เคน กระทิงทอง หรือคุณแก้วล้วนเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแห่งกามตัณหาอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กคนใดก็ตาม

เมื่อจันเติบโตเป็นหนุ่ม เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์แห่ง “กามคุณ” กับบ่าวหญิงในบ้าน โดยการชักนำของเคน กระทิงทอง ก่อนที่จันจะได้พบรักอันบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงร่วมโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำ จนกระทั่งเมื่อคุณหลวงได้พา “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) คนรักเก่าเข้ามาอยู่บ้าน ทำให้จันเกิดความประทับใจในความสง่างามและความอบอุ่นประดุจมารดา ส่วนตัวคุณบุญเลื่องเองก็ประทับใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งดุจศิลปินของจัน จนมีความสัมพันธ์ลับอันเกินเลย

และแล้ววันหนึ่ง ชะตากรรมได้พลิกผันทำให้จันล่วงรู้ความจริงบางอย่างอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลของเขา นั่นทำให้จันตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต เพราะคุณหลวงนั้นเป็นมนุษย์ฉ้อฉลผู้ใช้ทุกกลวิธีในการคดโกงเพื่อครอบครองทรัพย์สินอันมหาศาลแห่งตระกูลพิจิตรวานิช ทำให้จันต้องเดินทางหนีภัยจากพระนครไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร เพื่อรอเวลาชำระแค้นและเอาทุกสิ่งทุกอย่างคืนกลับมาเป็นของเขาให้จงได้

โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จันดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความชัง ความใคร่ ความเคียดแค้น และการจดจำเอาเยี่ยงอย่างมาสู่การดำเนินชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์อันน่าสมเพชจนนำไปสู่หายนะอย่างแท้จริง

กฎแห่งกรรม...กิเลสแห่งกาม

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’”

“เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย

ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ”

ตัวละครอย่าง “จันดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็น ‘จันดารา’ ก็ต้องตอบว่าในยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้มันเต็มไปด้วยการแสวงหาอำนาจเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัณหาของมนุษย์ อาจจะพูดได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มนุษย์เราเป็นทาสของสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงชีวิตประจำวัน ครอบครัว ระดับประเทศ หรือระดับโลกก็ตาม มันมีผลต่อการกระทำของเราเสมอ อันนี้มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้คิดถึงวรรณกรรม ‘เรื่องของจัน ดารา’ ซึ่งผู้ประพันธ์คือ อุษณา เพลิงธรรม (ครูประมูล อุณหธูป) ได้แฝงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ภายใต้เปลือกของความเป็นอีโรติกของบทประพันธ์นี้ และที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นมันพูดถึงเรื่อง ‘กรรม’ ใครทำอะไรประพฤติอย่างไรก็จะได้ผลกรรมอย่างนั้นซึ่งเป็นแก่นแท้ของบทประพันธ์นี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีวรรณกรรมเรื่องไหนที่สะท้อนภาพชีวิตแม้กระทั่งสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ใกล้เคียงเท่าเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย

นี่คือความโดดเด่นของเรื่องจันดารา ที่นอกเหนือไปจากฉากอีโรติกที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อยุคสมัย 2507 ที่ยังไม่เคยมีใครเขียนเรื่องทำนองนี้ ก็เลยเป็นที่ฮือฮากันมากในวรรณกรรมเชิงสังวาส พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเรื่องโป๊ แล้วเราก็จะตื่นเต้นกับบทอัศจรรย์บทสังวาสที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าความเป็นอัจริยะของท่านเนี่ย ได้ซ่อนปรัชญาทางพุทธเอาไว้ แล้วก็ตีแผ่จิตมนุษย์ออกมาในงานวรรณกรรม ซึ่งเราว่ายุคสมัยนี้ใกล้เคียงในเรื่องทีเดียวนะ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ เราว่าในยุคสมัยนี้แหละที่น่าจะได้ชมภาพสะท้อนของตัวเอง ของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเรื่องนี้”

อีโรติกเป็นเรื่องสำคัญแต่มีเรื่องสำคัญกว่า...ที่มิอาจมองข้าม

“จันดารา” เวอร์ชั่นดัดแปลงโดยผู้กำกับมือเอก “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นี้ สะท้อนภาพความวิปริตของมนุษย์แต่ละคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ “สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ความหิวโหยความรัก ความทารุณเหี้ยมเกรียม ตัวอย่างโสมม” ที่ประทับหูประทับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเบ้าหลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

คนที่จะปีนขึ้นจากเบ้าหลอมเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัย “ความแกร่ง” ชนิดพิเศษ และ “กรรมดี” ช่วยสนับสนุนประกอบกัน

แต่เผอิญ “จันดารา” ไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เขาจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างน่าสมเพช

“ด้วยความอัจริยะของท่านผู้ประพันธ์ที่เปิดช่องให้เราได้ตีความได้มากมาย ไม่ได้ให้เราคิดตามท่านอย่างเดียว แต่เปิดช่องให้เราคิดเองด้วย ดังนั้นในแง่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ก็จะทำได้ง่ายขึ้น เราก็เอาแก่นหรือสาระของเรื่องมาขยายความดัดแปลงให้เหมาะสมในทางภาพยนตร์ จากพรรณนาโวหารที่มีความงามอยู่ในนั้น เราก็เอาความงามทางภาษามาแปลงเป็นความงามทางภาพแทน และความเด่นที่สุดอีกจุดหนึ่งของท่านก็คือ การที่ใช้หลักจิตวิทยาของ ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ มาสร้างตัวละครให้มีชีวิตเหมือนคนจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ‘ปมออดิปุส คอมเพล็กซ์’ (OEDIPUS COMPLEX) เป็นปมที่ท่านเอามาสร้างเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจได้อย่างสมจริงในเรื่องหรือพล็อตที่คนไทยจะสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ มีการหักมุม มีการแย่งชิงอำนาจกัน แย่งทรัพย์สินมรดกกัน และก็มีเรื่องเพศเรื่องเซ็กส์ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัณหาราคะ แต่อธิบายง่ายๆ อย่างผู้ชายจะรักผู้หญิงที่มีอะไรคล้ายๆ แม่ของตัวเอง ผู้หญิงก็จะรักผู้ชายที่คล้ายๆ พ่อของตัวเองตรงนี้มันจะเป็นปมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่ว่าจะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม ซึ่งฟรอยด์ก็พูดเสมอว่า ‘Sex Drive-แรงกระตุ้นทางเพศ’ ก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์ เกิดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เกิดสิ่งยิ่งใหญ่ของโลก การสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ดีขึ้นมา หรือไม่ก็เป็นทางลบไปเลย เป็นฆาตกรบ้ากามไปเลยทำนองนั้น

ฉะนั้นเรื่องเพศหรืออีโรติกมันสามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมสองมุมทั้งบวกและลบ ในเรื่องนี้เราจึงไม่สามารถหนีประเด็นนี้ได้เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจของตัวละครทุกตัว แต่ว่านี่แหละมันเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการสร้าง คือว่ามนุษย์เราเนี่ยใช้เรื่องเซ็กส์ได้ในหลายจุดประสงค์ เช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนี้ที่ใช้เซ็กส์เพื่อความสนุก ความรัก ความเกลียด การแก้แค้น การต่อรองอำนาจ และด้วยเหตุผลอื่นๆ มากมาย ฉะนั้นฉากอีโรติกในเรื่องนี้มีเยอะทีเดียวและแต่ละฉากจะมีความหมายที่แตกต่างกันและมีเหตุมีผลกับชีวิตมนุษย์จริงๆ ทั้งสิ้น”

งานสร้างสรรค์สุดละเมียด ละเลียดการแสดงสุดเข้มข้น

ขึ้นชื่อในเรื่องของความละเอียดและพิถีพิถันในงานสร้างทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมงานก่อนการถ่ายทำไปจนถึงหลังการถ่ายทำ โดยในครั้งนี้ยังคงระดมทีมงานเบื้องหลังมืออาชีพหลากหลายแขนงมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกนี้อย่างเต็มกำลัง รวมถึงทีมนักแสดงมากความสามารถที่ขึ้นจอประชันบทบาทกันอย่างเข้มข้นในทุกๆ ฉากเลยทีเดียว

“คือเรื่องนี้จะยากนิดนึงในแง่ศิลปกรรมทุกไม่ว่าจะเป็นด้านฉาก ด้านการแต่งกาย ด้านการแต่งหน้า เนื่องจากดำเนินเรื่องตั้งแต่จันดาราเกิดตั้งแต่รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2457) จนถึงปัจจุบันเนี่ย เพราะฉะนั้น ในแง่ฉาก เครื่องประกอบฉาก การแต่งกายมันเป็นไปตามยุคสมัย แม้กระทั่งทรงผม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องศึกษาอย่างละเอียดและทำงานกันหนักมาก และเรื่องส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบ้านพิจิตรวานิชก็จะต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไปตามเสื้อผ้าและแบบผม แต่ว่าเราก็ได้โปรดักชั่นดีไซเนอร์มืออาชีพระดับอินเตอร์อย่าง ‘คุณแป๊ะ-พัฒน์ฑริก มีสายญาติ’ ที่เคยร่วมงานกันจากอุโมงค์ผาเมือง ได้ ‘คุณโจ้-อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์’ จากร้าน Surface มาเป็นผู้ดีไซน์เสื้อผ้า และก็ได้ ‘อาจารย์มนตรี วัดละเอียด’ มาควบคุมการแต่งหน้าและทรงผม ทุกคนจะทำงานกันหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งหน้าเนี่ยก็ต้องเปลี่ยนไปตามวัย 4 สมัย 4 รัชกาล ต้องแต่งหน้าให้มาริโอ้และนิวซึ่งยังเด็กๆ ยี่สิบกว่าเองให้เป็นคนอายุเจ็ดสิบกว่า ก็เป็นงานที่หนักที่สุดเท่าที่เคยทำมา และก็มีฉากใหญ่ที่ท้าทายในการถ่ายทำมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ต้องจำลองภาพสมัยยุครัชกาลที่ 7, มีฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีฉากเครื่องบินมาถล่มกรุงเทพฯ และก็มีฉากงานเลี้ยงต่างๆ มากมาย อันนี้ก็ต้องศึกษาเยอะและก็เป็นงานที่ใหญ่มากเกินกว่าที่คิด

ทางด้านโลเกชั่นหลัก เราถ่ายอยู่ที่บ้านบ้านสังคหวังตาลของหลวงสิทธิเทพการ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และก็มีบางส่วนที่ไปถ่ายทำที่สระบุรี, กาญจนบุรี และก็ที่กรุงเทพฯ การหาโลเกชั่น Outdoor นั้นยากมาก มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะฉะนั้นการทำงานจะยากตรงที่ว่าตรงไหนที่จะต้องหลบไอ้สิ่งทันสมัยต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วย เพราะว่ามันยากตรงที่แต่ละยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปมากด้วย

ส่วนด้านดนตรีประกอบเนี่ย เราก็ได้ ‘คุณชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์’ ซึ่งก็ร่วมงานกันมาเมื่อตอนอุโมงค์ผาเมือง มาทำเพลงประกอบด้วยความอลังการมาก คือเนื่องจากเรื่องดำเนินใน 4 ยุค 4 สมัย ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ของประเทศมากมาย มีการชิงอำนาจกันในบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอำนาจในประเทศจนถึงระดับโลก เพราะฉะนั้นดนตรีประกอบจึงสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาซึ่งมีทั้งความยิ่งใหญ่ ความเจ็บปวด ความรัก ความเศร้า มีการแก้แค้นอยู่ในนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะอันน่าสะเทือนอารมณ์ของมนุษย์ แต่ก็มีฉากที่เป็นสีสันความสนุกของเรื่องอย่างฉากร้องเพลง ‘เมื่อไหร่จะให้พบ’ ในงานเลี้ยง ซึ่งขับร้องโดยหญิง รฐา โพธิ์งามกับศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ซึ่งแต่งคำร้องโดย ‘แก้ว อัจริยะกุล’ และแต่งทำนองโดย ‘หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์’ ซึ่งเป็นเพลงฮิตในยุคนั้นมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครที่เดินเรื่องตลอดก็คือตัว ‘จันดารา’ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องชีวิตของเขาเองทั้งหมด โดยในภาพยนตร์ครั้งนี้มีการดัดแปลงให้จัน ดารามีชีวิตยาวขึ้นกว่าในบทประพันธ์ โดยในวรรณกรรมจะเล่าเรื่องถึงอายุ 40 แต่ในหนังเราจะเล่าไปถึงอายุ 80-90 คือจะเล่าตั้งแต่จันดาราเกิดขึ้นบนโลกนี้จนอายุถึง 90 ปี เรื่องก็จะดำเนินผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของเขา ซึ่งก็คล้ายๆ กับอัตชีวประวัติ ถึงเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นมหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม

ตัวจันดาราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปิน มีความเป็นศิลปินสูงมาก เป็นคนอ่อนไหวมาก เป็นคนที่สามารถจดจำรายละเอียดของตัวเองและคนอื่นได้เป็นอย่างดี เรื่องส่วนใหญ่จะดำเนินตอนที่เขาอายุ 17 จนถึงเกือบอายุ 40 เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเลือกคนที่มีหน้าตากลางๆ ที่สามารถเล่นเป็นคนอายุ 17 จนถึง 30-40 ได้ การเลือกนักแสดงมันก็ต้องน่าเชื่อ แก่ไปก็เล่นเป็นเด็กไม่ได้ เด็กไปก็เล่นแก่ไม่ได้ ตัว ‘มาริโอ้’ ด้วยวัยเค้าจริงๆ เนี่ยก็จะกลางๆ ที่สุด และด้วยฝีมือทางการแสดงของเขาหลังจากที่ร่วมงานกันมาใน อุโมงค์ผาเมืองเนี่ย เราก็ได้เห็นศักยภาพทางการแสดงและคิดว่ามาริโอ้จะสวมบทบาทเป็นจันดาร ได้อย่างลึกซึ้ง ตอนออดิชั่นให้มาริโอ้แต่งเป็นอะไรเค้าก็จะมีเสน่ห์เป็นคนนั้นซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของนักแสดงมากๆ เค้าก็คงจะเหมาะที่สุดแล้ว คราวนี้เรามองจัน ดาราเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ และข้อสำคัญก็คือ สภาพแวดล้อมรอบข้างนี่แหละที่ทำให้ความบริสุทธิ์ของเขาต้องเปลี่ยนไปกลายเป็นดาร์กขึ้น หม่นขึ้นๆ จนกลายเป็นดำสนิท ด้วยสภาพจิตใจและหน้าตาของเค้าก็ทำให้สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีทีเดียว

ส่วนตัวละคร ‘เคน กระทิงทอง’ ซึ่งสร้างขึ้นมาให้ละเอียดขึ้นจากหนังสือเนี่ย เป็นตัวละครที่เติบโตมาพร้อมๆ กับจัน ถ้าจันเป็นสีดำเคนก็เป็นสีขาว ถ้าเคนเป็นสีขาวจันก็เป็นสีดำ เป็นบุคลิกตรงข้ามกันมาก เคนกระทิงทองจะเป็นคนที่แมนๆ แข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่ไม่คิดอะไรมากทั้งสิ้น เอ็นจอยกับชีวิตในทุกวินาทีที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ เป็นคนมองโลกในแง่ความเป็นจริง การที่เลือก ‘นิว ชัยพล’ เพราะเขามีลักษณะภายนอกที่เหมือนเคน กระทิงทองมาก ด้วยรูปร่างหน้าตาและความแข็งแกร่งที่ดูเป็นนักสู้ เป็นนักเลงนิดๆ และมีความทะเล้นอยู่ในตัว ในแง่แอ็คติ้งเนี่ยนิวเรียนกับเรามาตั้งสี่ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเขาสามารถทำความเข้าใจตัวละครได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือนิวกับโอ้เขาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาเล่นด้วยกันเขาจะมีเคมีที่เข้ากันได้ดีมาก มันไม่ใช่แค่เพื่อนอย่างเดียวนะ มันเป็นทั้งนายกับบ่าว มีความซื่อสัตย์ ความไว้ใจซึ่งกันและกัน คู่นี้พอเล่นด้วยกันแล้วดูน่าเชื่อเป็นอย่างยิ่ง

‘ตั๊ก บงกช’ ก็เลือกจากลักษณะภายนอกเหมือนกัน คือตัว ‘น้าวาด’ เนี่ยสวยแบบนางในวรรณคดี เป็นหญิงไทยโบราณและมีความเป็นแม่สูงด้วยลักษณะภายนอก มีหน้าอกที่ใหญ่ มีไหล่ที่ใหญ่ แล้วมีความอบอุ่น และตั๊กเขามีความสวยอย่างคนไทยมากยิ่งพอใส่สไบแต่งเป็นไทยขึ้นมาก็ตรงกับที่คิดไว้เลย ที่สำคัญเขาต้องเล่นตั้งแต่สาวจนกระทั่งอายุ 40-50 ซึ่งตั๊กก็ทุ่มเทกับการซ้อมมากจนเข้าถึงตัวน้าวาดได้อย่างน่าประทับใจ

ส่วน ‘พิ้งกี้’ ต้องเล่นเป็นสองคาแร็คเตอร์ หนึ่งคือ ‘ไฮซินธ์’ บทระบุไปเลยว่าเป็นผู้หญิงมุสลิมและสวยมากก็เลยเห็นว่าพิงกี้เนี้ยเหมาะที่สุดที่จะมารับบทนี้ ก็เลยเชิญมาออดิชั่นและฝีมือการแสดงเขาสูงมากทีเดียวถึงขั้นระดับอินเตอร์ก็ว่าได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าบทไฮซินธ์อย่างเดียวมันจะง่ายไปหรือเปล่าสำหรับเขา ก็เลยเพิ่มบทให้เขาอีกบทนั่นคือบท ‘ดารา’ แม่ของจันที่เสียชีวิตหลังจากคลอดจันออกมา บทของดาราก็เป็นบทที่สำคัญมาก ในนวนิยายพูดไว้ว่า ผู้หญิงสองคนที่จันรักอย่างบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นมันเลยมีความเหมือนกันอยู่ในแง่ของตัวละคร คือเราพยายามคิดว่าทำไมจันดาราถึงรักไฮซินธ์อย่างบริสุทธิ์มันต้องมีความเป็นอะไรเหมือนแม่อยู่ก็เลยให้คนๆ เดียวกันเล่น ซึ่งจริงๆ ก็เป็นคนละคาแร็คเตอร์เลย ซึ่งเขาก็เล่นได้ดีและแตกต่างมาก

บท ‘คุณหลวงวิสนันท์เดชา’ เป็นบทที่เหมือนกระจกส่องสะท้อนกับจันดารา ที่ทำให้แม่ต้องตายหลังจากคลอดเขา ก็เลยก่อเกิดความเคียดแค้นที่มาใส่กับตัวเด็ก โดยที่จริงๆ แล้วมันมีเหตุผลที่เป็นปริศนาซ่อนอยู่ เป็นบทที่เล่นค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นบทนี้ต้องใช้คนที่มีฝีมือมาก สำหรับผมคิดว่า ‘เจี๊ยบ ศักราช’ เนี่ย มีบุคลิกภายนอกมีความเป็นผู้ชายไทยเหมือนที่ตั๊ก บงกชมีความเป็นผู้หญิงไทย และประกอบฝีมือการแสดงที่เล่นได้แนบเนียนและลึกซึ้งเหมือนตัวละคร ก็เลยคิดว่าศักราชจะสวมบทบาทนี้ได้ดี ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีมากๆ เลยทีเดียว

คาแร็คเตอร์ของ ‘คุณบุญเลื่อง’ ก็จริงๆ แล้วเป็นตัวละครที่เราแคสติ้งไว้หลายคนทีเดียว เพราะเป็นบทที่ถูกตีความใหม่ให้เป็นศิลปินแม่ม่ายชาวภูเก็ตแต่ไปโตที่ประเทศฝรั่งเศสและก็มีสังคมเป็นชาวต่างประเทศ จะเป็นฝรั่งมาก เพราะฉะนั้นบทของคุณบุญเลื่องเลยมีสีสันต่างจากตัวละครผู้หญิงในเรื่องซึ่งเป็นคนไทย คุณบุญเลื่องเวอร์ชั่นนี้จะรักการแต่งตัวมาก จะแฟชั่นจ๋ามาก และก็เป็นศิลปิน เป็นนักดนตรี เป็นนักวาดรูป ร้องเพลงเก่ง เปียโนเก่ง เต้นรำเก่ง มันก็มีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่ต้องเลือกคนที่เหมาะจริงๆ เพราะฉะนั้นในการเลือก ‘หญิง รฐา’ มารับบทนี้ก็จะเหมาะที่สุด และก็ด้วยวัยจริงๆ เขาอายุไม่ค่อยเยอะ แต่ว่าหญิงสามารถ่ายทอดบทบาทของหญิงวัยสี่สิบได้อย่างเหลือเชื่อ

บท ‘คุณแก้ว’ เนี่ยพูดได้ว่าเป็นบทที่แรงที่สุดในเรื่องนี้นะครับ คือเธอมีจิตใจที่เปราะบางทีเดียว คือมีปมของการที่แม่ไม่รัก ตัวเองก็รักพ่อมากและก็ได้รับอิทธิพลความคิดความอ่านจากพ่อไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อใส่หัวตั้งแต่เด็กว่าให้เกลียดจันและก็ถ่ายทอดเลือดของพ่อมาเยอะ คือเป็นคนที่เจ้าอำนาจบาตรใหญ่มาก และก็มีความวิปริตทางจิตค่อนข้างสูง เป็นผู้หญิงที่รุนแรงมากทางด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันยากมากสำหรับนักแสดงไทยที่จะถ่ายทอดตรงนี้ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฉากอีโรติกซึ่งค่อนข้างสำคัญมากสำหรับหนังเรื่องนี้ ก็เลยคิดว่านักแสดงไทยคงไม่กล้าเล่นแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจใช้นักแสดงญี่ปุ่น ‘โช นิชิโนะ’ ซึ่งเธอก็รู้สึกว่าเป็นบทที่ยากและท้าทายสำหรับเธอมากที่จะเล่นเป็นคนไทย ซึ่งแต่เดิมเราบอกว่าพูดญี่ปุ่นก็ได้และเดี๋ยวให้คนอื่นมาพากย์ทับ แต่แกกลับบอกว่าแกอยากจะพูดเป็นภาษาไทยแล้วคนที่มาพากย์แทนแกจะได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นคนที่มีสปิริตและทุ่มเทในการซ้อมมากแม้จะเป็นช่วงเวลาที่น้อยนิดที่เราเจอกัน เราก็ขอชื่นชมในสปิริต ซึ่งสามารถพูดได้ว่าเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพระดับสากลจริงๆ คือถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักแสดง AV แต่ว่าบ้านเขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมากและดาราญี่ปุ่นหลายๆ คนก็เกิดจากเอวีทั้งนั้น แต่ว่าโชก็สามารถเล่นได้ทุกอย่างเป็นมือโปรจริงๆ และเขาเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ความเป็นคนไทยอย่างมาก และเราก็โชคดีมากที่ได้ ‘นัท มีเรีย’ ที่ไม่ใช่แค่มาให้เสียงเท่านั้น แต่ต้องถือว่านัทก็เหมือนแสดงเป็นคุณแก้วเลย เข้าใจบทเท่าๆ กับที่โชเข้าใจ ต้องใส่วิญญาณของคุณแก้วเข้าไปในภาพของโช ซึ่งสำหรับนัทเองก็เป็นบทที่ยากสำหรับเขามาก จริงๆ แล้วเหมือนเล่นสองคนนะครับบทนี้ แสดงโดยโช มิชิโนะและนัท มีเรีย ซึ่งนัทก็สามารถถ่ายทอดได้เหมือนราวกับเป็นคนๆ เดียวกัน แต่พูดภาษาไทยได้ชัดกว่าเท่านั้นเอง

ส่วนบทของ ‘คุณท้าวพิจิตรรักษา’ แสดงโดย ‘รัดเกล้า อามระดิษ’ ก็จะเป็นบทที่เราได้มีการดัดแปลงขึ้นมา เพราะในบทประพันธ์จะเป็นคุณตา เราคิดว่าน่าจะเป็นผู้หญิงมากกว่าก็เลยดัดแปลงเป็นคุณท้าวยาย ซึ่งเป็นคุณป้าของดารา พิจิตรวานิชแม่ของจัน เป็นผู้อาวุโสมากที่สุดในบ้านพิจิตรวานิช ซึ่งจริงๆแล้วตัวละครตัวนี้แหละเป็นตัวละครที่สร้างปมปัญหาต่างๆ ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งในบทบาทสำคัญนี้จะหนัก ต้องใช้นักแสดงที่เล่นได้อย่างมีพลัง ซึ่งรัดเกล้าเป็นนักแสดงคุณภาพที่พิสูจน์ฝีมือแล้วจาก ‘อุโมงค์ผาเมือง’ นะครับ ซึ่งถ่ายทอดบทผู้หญิงแก่ที่หลงอำนาจและก็ตัดสินใจบางอย่างผิดๆ ไปและก่อให้เกิดความหายนะต่อคนรอบข้างได้อย่างน่าสะพรึงกลัวทีเดียว”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ