อธิการบดีใหม่ สจล. เตรียมพลิกโฉมการศึกษาไทย สร้างดิจิทัลทีวีแห่งแรก พร้อมย้ำภาพการเป็นท็อปเท็นด้านวิทย์-เทคโนฯแห่งอาเซียน

พุธ ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๐:๕๗
ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมาอธิการบดีคนใหม่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังประกาศเดินหน้าเต็มที่เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพวิชาการให้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อวางรากฐานสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต โดยมุ่งพัฒนาสถาบัน 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาผู้นำ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานักศึกษาสู่ระดับสากล โดยจะเน้นการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เพื่อก้าวสู่การเป็นเป็นสถาบัน 1 ใน 5 ของประเทศไทยภายใน 4 ปี และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อเป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เป็นที่พึ่งของสังคมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในสถาบัน รวมถึงการคิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนย่านลาดกระบังขึ้น ถือเป็นสถานีส่งต้นแบบการแพร่สัญญาณสำหรับชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศ นอกจากนี้ สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาของสถาบัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่น ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเกี่ยวกับระบบการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ให้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่สถานีแห่งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จริง โดยจะมีการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตมีนบุรี บางกะปิ ประเวศ บางพลี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นการสร้างประโยชน์และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในฐานะของสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกทางหนึ่ง ตลอดจนยังตอบโจทย์สโลแกนของสถาบันที่ “สังคมแห่งนวัตกรรม หรือINNOVATIVE SOCIETY”

เมื่อวันทื่ 20 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา เป็นอธิการบดีคนที่ 8 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) โดย ศ.ดร. ถวิล พึ่งมา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจ การที่ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ก็จะทำให้เต็มที่ พร้อมกับการพัฒนาสถาบัน ไปสู่การเป็นสถาบันอันดับหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเดินหน้าปักหมุดกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพวิชาการให้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อวางรากฐานสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต ทั้งนี้วิสัยทัศน์ของการพัฒนาสถาบันมีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาผู้นำ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนานักศึกษาสู่ระดับสากล โดยจะเน้นการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัย โดยใช้เทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนให้มีความล้ำหน้า นำวิทยาการใหม่เข้ามาใช้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนการพัฒนาอาคารเรียนไฮเทค(Hi-tech Building) ที่ควบคุมและประเมินผลการเรียนการสอนได้จากส่วนกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องการเน้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีการสนับสนุนให้นักศึกษาของสถาบันคิดค้นงานวิจัยต่างๆได้อย่างเปิดกว้าง โดยมีกองทุนงานวิจัยรองรับ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวนักศึกษาเอง เมื่อจบการศึกษาก็สามารถออกไปทำงานได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ศ.ดร. ถวิล กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่สำคัญของพระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่จะต้องก้าวไปให้ถึงนั้น คือการพัฒนาให้สถาบันเป็นสถาบัน 1 ใน 5 ของประเทศไทยภายใน 4 ปี และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อพัฒนาสถาบันให้เป็นสถาบัน 1 ใน 3 ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 10 ของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าแห่งประชาคมอาเซียนในปี 2563 โดยเริ่มต้นพัฒนาสถาบันด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการผลิตผลงานทางวิชาการ รวมถึงผลงานวิจัยที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานออกมาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่สถาบันต้องนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศได้ เปรียบเสมือนการเป็นที่พึ่งของสังคมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล ก็เป็นสิ่งที่สถาบันกำลังพยายามปรับตัว โดยมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆให้ตรงตามความต้องการของในประเทศและต่างประเทศ การจัดหลักสูตรนานาชาติอย่างจริงจังโดยเริ่มใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน เพื่อให้นักศึกษาเริ่มซึมซับกับภาษาอังกฤษและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดหลักสูตรพื้นฐานทางวิชาการและหลักสูตรเทคโนโลยีเพื่อวิชาชีพให้แก่นักศึกษาทุกระดับชั้น

“สำหรับแนวทางในการพัฒนาสถาบันในขั้นเริ่มต้น สิ่งที่สถาบันต้องการเน้นย้ำ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงห้องเรียนและห้องสมุดให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการสอน การวิจัยจากฐานข้อมูลกลางได้ การสนับสนุนให้สถาบันเป็นแหล่งความรู้ โดยการสอนผ่านระบบ ICT และการปรับปรุงเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารภายในสถาบัน ซึ่งนอกจากที่กล่าวมานั้น สิ่งต่อไปที่สถาบันกำลังดำเนินการอยู่นั้น คือการนำเทคโนโลยีที่คณาจารย์ของสถาบันได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นออกไปรับใช้สังคม นั่นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลกับครั้งแรกของระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลในประเทศไทยในรูปแบบ DVB-T2 ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการของกิจการโทรทัศน์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ด้วยขนาดคลื่นความถี่วิทยุที่เท่ากัน แต่กลับให้ประโยชน์อันมากมายถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สถาบันต้องการจะพัฒนา เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย และสร้างความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น”ศ.ดร. ถวิล กล่าว

ศ.ดร. ถวิล กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดตัวเทคโนโลยีระบบส่งสัญญาณแบบดิจิทัลครั้งแรกของในประเทศไทย ว่าปัจจุบันโทรทัศน์ในประเทศไทยนั้น ถ่ายทอดสัญญาณ ในระบบแอนะล็อก ซึ่งทำให้ความคมชัด คุณภาพของภาพ ฯลฯ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ตลอดจนแอนะล็อกนี้สามารถส่งช่องรายการได้เพียงช่องเดียว เมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่สามารถออกอากาศได้มากถึง 8-25 ช่องรายการ พร้อมคุณภาพที่ดีในการรับชมและความคมชัดมากขึ้น สามารถให้บริการมัลติมีเดียใหม่ๆ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศ เพราะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าหลายเท่าตัว แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนระบบไปสู่ดิจิทัล คือ การกำหนดมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งใช้เป็นมาตรฐานในการส่งสัญญาณออกอากาศ และภาคอุตสาหกรรมนำไปผลิตอุปกรณ์เครื่องรับโทรทัศน์ได้ โดยมาตรฐานที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้การรองรับมี 5 ระบบ คือ ATSC, DVB-T, ISDB-T, DTMB และ DVB-T2 ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณ 38 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีการอนุญาตและดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทีวี จึงทำให้สถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมของสถาบันจึงได้คิดค้นและสร้างสถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนย่านลาดกระบังขึ้น

สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ที่พระจอมเกล้าลาดกระบังได้คิดค้นขึ้นนี้ ถือเป็นสถานีส่งต้นแบบการแพร่สัญญาณสำหรับชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่ใช้มาตรฐานแบบ DVB-T2 นั้น เนื่องจาก มาตรฐานนี้มีการปรับโหมดการทำงานได้หลายแบบ มีความยืดหยุ่นอ่อนตัว อีกทั้งยังใช้เทคนิคระบบป้องกันแก้ไขความผิดพลาดของสัญญาณ เพื่อให้สัญญาณมีความคงทน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเป้าหมายในระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ในช่องคลื่นความถี่ที่กำหนดได้ นอกจากนี้ สถานีส่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาของสถาบัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่น ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเกี่ยวกับระบบการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ DVB-T2 สำหรับชุมชน ให้เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่สถานีแห่งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จริง ไม่ใช่การจำลองขึ้น อีกทั้งยังเป็นสถานีในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ให้กับชุมชนข้างเคียงได้อีกด้วย โดยจะมีการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ เขตมีนบุรี บางกะปิ ประเวศ บางพลี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสถาบันเองถือว่าโครงการวิจัยนี้ สามารถสร้างประโยชน์และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในด้านเทคโนโลยีได้ไม่มากก็น้อย

การนำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้นั้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเรียนการสอนของสถาบันให้ล้ำสมัยเป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนต้องมีความล้ำหน้าดังเช่น สโลแกนของสถาบันที่ว่า “สังคมแห่งนวัตกรรม : INNOVATIVE SOCIETY” อย่างไรก็ตามการที่จะนำ สจล.พัฒนาแบบก้าวกระโดดทางสถาบันต้องเร่งสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำวิจัยร่วม การจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติ การแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาและสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฯลฯที่สถาบันมีความร่วมมืออยู่แล้วนั้นก็จะต้องต่อยอดในการสร้างความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือให้มากขึ้นกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เพื่อให้นักศึกษาในทุกระดับรวมไปถึงบุคลากรได้เรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในแวดวงอุตสาหกรรมที่แท้จริง เพื่อตอบโจทย์อัตลักษณ์ของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ว่า“ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” ได้อย่างดีที่สุด ศ.ดร. ถวิล กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version