‘แบ่งเวลา’ โจทย์ยากคุณแม่คนทำงาน ขาด ลา มาสายปัญหาหลัก

พุธ ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๕:๓๑
จ็อบสตรีทดอทคอม เว็บไซต์จัดหางานที่รวบรวมคนคุณภาพ งานคุณภาพ ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงทำงานอายุ22 ปีขึ้นไปจำนวน 281คน และตัวแทนฝ่ายนายจ้างจำนวน 122 องค์กร ในหัวข้อทัศนคติของผู้หญิงที่มีต่อบทบาทคุณแม่คนทำงาน และความใส่ใจของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้างสตรี พบว่าหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ความสนใจและพัฒนาสวัสดิการเพื่อลูกจ้างหญิงมากขึ้น โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับลูกจ้างหญิงที่มีบุตรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของตัวแทนนายจ้างจาก 122 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กมีพนักงานไม่เกิน 50 คน 48.4% บริษัทขนาดกลาง มีพนักงานตั้งแต่ 50-200 คน 34.4% และบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน อีก 17.2% พบว่า 54% มีพนักงานหญิงในองค์กรมากกว่า 50% นอกจากนี้ จากตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติปี2551 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานสตรีที่อยู่ในระบบจำนวน6.33 ล้านคนและนอกระบบอีก11.09 ล้านคนนั่นย่อมเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าแรงงานหญิงมีบทบาทและความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้นการใส่ใจความต้องการของพนักงานหญิงเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยทีเดียว

“การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ทำขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างได้ทราบถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการจัดสวัสดิการและในขณะเดียวกัน เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักในความรับผิดชอบอันจะส่งผลดีต่อการทำงานของตนเองด้วย”

กลุ่มผู้ที่ทำการตอบแบบสอบถามนั้น 47% เป็นโสด 36% เป็นหญิงที่สมรสและมีบุตรแล้ว 8% เป็นหญิงที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตร อีก 9% หย่าร้างแล้วโดย 40% ให้ความเห็นว่าบริษัทไม่ใส่ใจต่อความต้องการของพนักงานที่มีบุตร 26% ระบุว่าบริษัทใส่ใจความต้องการของพนักงานกลุ่มดังกล่าว และอีก 34% ไม่แน่ใจ และมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 71.5% ที่คิดว่าเป้าหมายในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีบุตร โดยในจำนวนนี้ 35% คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานภายหลังการมีบุตรคือเงินเดือนที่สูงขึ้น รองลงมา 29% อยากได้งานที่มีชั่วโมงการทำงานสั้นลงและมีเวลาที่แน่นอน 25% อยากได้งานที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น 8% คือการเดินทางที่น้อยลงและอื่นๆ อีก 4%ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจในปี2554 ที่ผ่านมา

นางสาวฐนาภรณ์ สถิตพันธุ์เวชา ผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า “จากผลการสำรวจจะเห็นได้ชัดเจนว่า ความต้องการของคุณแม่คนทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีบุตร โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้และเวลา แต่ถึงแม้ว่าพนักงานหญิงจะมีเป้าหมายในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มีเพียง 1% เท่านั้น ที่คิดจะลาออกจากงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลบุตรเพียงอย่างเดียว โดยมีถึง 63% ที่ยังต้องการจะทำงานต่อไปตามปกติ และ 25% วางแผนหยุดทำงานเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นในจำนวนนั้น 57% อาจหยุดทำงานเพียงไม่เกิน 2 ปี เท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถออกจากการทำงานได้ เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ 58% รองลงมาคือ ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน 22% ชอบในงานที่ทำอยู่ 12% และด้วยเหตุผลอื่นๆ อีก 8%ซึ่งหากองค์กรตระหนักถึงความต้องการเหล่านี้และสามารถเติมเต็มให้กับพนักงานหญิงได้ ก็จะสามารถช่วยลดอัตราการลาออกจากงานได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความผูกพันและจงรักภักดีต่อองค์กรให้เกิดขึ้นได้ด้วย”

นางสาวฐนาภรณ์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนขององค์กรนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน สำหรับการให้ความสำคัญกับพนักงานที่ตั้งครรภ์หรือมีบุตร เพราะหากเทียบกับปีที่ผ่านมา มีบริษัทมากถึง 45% ที่ไม่มีการจัดสวัสดิการใดให้พนักงานที่ตั้งครรภ์หรือมีบุตรเลยแต่ในปีนี้มีเพียง 23% เท่านั้นที่ไม่มีการจัดสวัสดิการใดเป็นพิเศษสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์หรือพนักงานที่มีบุตร ในขณะดียวกัน 66%ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิงในระดับปานกลาง และ 11% ให้ความสำคัญมาก เท่ากับปีที่ผ่านมา

สำหรับสวัสดิการเพื่อพนักงานตั้งครรภ์หรือพนักงานที่มีบุตรที่องค์กรจัดให้พนักงานนั้น สวัสดิการที่มีการมอบให้พนักงานสูงสุดห้าลำดับแรกคือ 27% ให้ของขวัญแรกคลอด 19% ปรับเปลี่ยนหน้าที่ที่เหมาะสมให้ 13% ช่วยเหลือค่าคลอดบุตร 10% ยืดหยุ่นเวลาทำงานให้ และ 2.5% จัดห้องสำหรับปั๊มน้ำนมในขณะที่สิ่งที่คุณแม่คนทำงานอยากจะเรียกร้องต่อนายจ้าง มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น (41%) เงินเดือนที่สูงขึ้น (40%) เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร (38%) ทุนการศึกษาให้บุตร (33%) และ วันหยุดที่เพิ่มขึ้น (26%)

เปรียบเทียบความต้องการของคุณแม่คนทำงาน และ สวัสดิการจากนายจ้างสูงสุด 5 ลำดับแรก

ความต้องการของคุณแม่ สวัสดิการจากนายจ้าง

เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น ให้ของขวัญแรกคลอด

เงินเดือนที่สูงขึ้น ปรับเปลี่ยนหน้าที่ที่เหมาะสมให้

เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร ช่วยเหลือค่าคลอดบุตร

ทุนการศึกษาให้บุตร ยืดหยุ่นเวลาทำงานให้

วันหยุดที่เพิ่มขึ้น จัดห้องสำหรับปั๊มน้ำนม

เมื่อถามถึงแผนการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานหญิงที่มีบุตร 16% แจ้งว่ามีแผนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 8% มีแผนการในระยะยาวคืออีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 76% ยังไม่มีแผนเลย

“ทั้งนี้ 67.2% นายจ้างที่ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่าไม่ได้นำเรื่องการมีบุตรหรือไม่มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณารับพนักงาน โดยให้เหตุผลว่า การที่มีบุตรจะทำให้พนักงานมีความอดทนมากกว่าคนที่ยังไม่มีบุตร สำหรับ 32.8% ของนายจ้างที่มีแนวโน้มว่าจะไม่จ้างผู้สมัครที่มีบุตรแล้วเนื่องจากเป็นห่วงว่าจะทุ่มเทกับงานได้ไม่เต็มที่เพราะมีภาระทางครอบครัว”

เมื่อสอบถามถึงปัญหาที่เคยพบจากพนักงานหญิงที่มีบุตรพบว่า 53.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เคยพบปัญหาจากพนักงานหญิงที่มีบุตรโดยมีอัตราการขาด ลา มาสายสูง เนื่องมาจากภาะที่เกี่ยวกับบุตร 21.3% ต้องหาพนักงานใหม่เนื่องจากพนักงานเก่าลาออกเพื่อไปดูแลบุตร 10.7% พบว่าพนักงานไม่ทุ่มเทกับการทำงานเหมือนเดิม และ 28.7% ไม่เคยพบปัญหาจากพนักงานกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นายจ้าง 50% เชื่อมั่นว่าพนักงานที่มีบุตรยังสามารถทุ่มเทกับงานได้แน่นอน ในขณะที่ 32.8% ไม่แน่ใจ และ17.2% เชื่อว่าไม่สามารถทุ่มเทได้แน่นอน

“เราเชื่อว่าคุณแม่คนทำงานทุกคนนั้น มีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ การได้ทำงานไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีและคนเก่ง ประสบความสำเร็จกับหน้าที่การงานในอนาคตซึ่งจ็อบสตรีทดอทคอมได้สอบถามถึงอาชีพที่คุณแม่อยากให้ลูกทำมากที่สุด พบว่า 5 ลำดับแรกของอาชีพในฝัน คือธุรกิจส่วนตัว รองลงมาคือแพทย์ วิศวกร ครู/อาจารย์ และทหาร ตามลำดับ”

นางสาวฐนาภรณ์ยังได้แนะนำถึงเคล็ดลับในการทำงานและเลี้ยงดูลูกไปพร้อมๆ กัน โดยที่คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกเครียดหรือกดดันมาก สิ่งสำคัญคือการมองโลกในแง่ดี และการปล่อยวาง “เมื่อต้องรับภาระทั้งนอกบ้านและในบ้าน เรื่องสำคัญคือการแบ่งเวลา เมื่อทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ บางครั้งก็ต้องเลือกงานก่อน สิ่งที่ตามมาคือ คุณแม่ส่วนมากจะรู้สึกผิดหากมีเวลาให้ลูกไม่เต็มที่ หรือจะกล่าวโทษตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ การพยายามเลือกทำในสิ่งที่จำเป็น ไม่เสียเวลากับเรื่องเล็กน้อย ที่สำคัญคือการพูดคุยและให้สมาชิกในบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องต่างๆ ในบ้านเพื่อลดภาระของคุณแม่ที่ยังต้องทำงานนอกบ้าน สุดท้ายอย่าลืมว่าแม้คุณแม่จะมีภาระต้องรับผิดชอบมากมาย แต่การดูแลตัวเองและเวลาส่วนตัวก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ การหาเวลาว่างให้ตัวเองเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบ เช่นสปา ทำผม หรือนัดทานข้าวกับเพื่อนเก่าบ้าง จะช่วยลดความเครียดและฟื้นฟูพลังให้คุณแม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version