ดร.แสนศักดิ์ ศิริพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มรภ.สงขลา ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือตามโครงการคืนชุมชนสีขาวให้สังคมไทยโดยตำรวจทางหลวง ภายใต้หลักการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ณ กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่าง รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมด้วยอธิการบดี มรภ.สงขลา ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 40 แห่ง กับ พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานและประเมินผลความสำเร็จโครงการฯ โดยคณะทำงานได้จัดทำแบบสอบถามวัดระดับความพึงพอใจในการให้บริการแก่ประชาชน และจะสรุปรายงาน วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคของโครงการ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งนี้ข้อตกลงเบื้องต้นจะมีการเก็บข้อมูลในชุมชนเป้าหมาย 40 ชุมชนทั่วประเทศ ใน 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเริ่มดำเนินการ (กันยายน 2555) ช่วงระหว่างดำเนินการ (พฤษภาคม 2556) และ ช่วงหลังดำเนินการ (ธันวาคม 2556) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถสะท้อนความสำเร็จของโครงการฯ ตามที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง และเป็นการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง และชุมชนเป้าหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงที่ผ่านการฝึกอบรม เข้าไปคลุกคลี เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในชุมชน รวมถึงศึกษาข้อมูลอาชญากรรม และรวบรวมรายละเอียดสภาพแวดล้อมความเป็นมาของชุมชน เพื่อวางแผนป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ โดยนำหลักรัฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างตำรวจกับชาวบ้าน โดยให้ตำรวจชุดดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางการทำงาน จากการเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน เป็นการหันหน้าเข้าหาประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องและให้บริการ สร้างความคุ้นเคยด้วยความจริงใจ เมื่อประชาชนไว้วางใจก็จะให้ข้อมูล ให้ข่าว บอกปัญหาและความต้องการให้ทราบ จากนั้นตำรวจกับประชาชนก็จะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ตรงตามความต้องการทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ซึ่งการร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 40 แห่ง จะทำให้ได้รับทราบปัญหา อุปสรรค และผลสำเร็จของโครงการฯ โดยมีตำรวจทางหลวงเป็นหน่วยงานนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางการทำงานตามทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน และต้องการใช้เป็นตัวอย่างในการทำงานตามแนวทางใหม่ให้กับตำรวจนครบาล หรือตำรวจภูธรทั่วประเทศต่อไป
รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏมีแนวทางการทำงานที่ใกล้ชิดกับท้องถิ่นมาโดยตลอด และมีความชำนาญในการเข้าถึงชุมชนและประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยการจัดทำโครงการร่วมกันในครั้งนี้ มรภ.สงขลา รับเป็นผู้ดำเนินการ และประสานงานกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนเป้าหมาย