โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ให้ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมนี โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 - ธันวาคม พ.ศ. 2556)
รศ.ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ แรงงานที่มีคุณภาพ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ เนื่องจากครูอาชีวะมีไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ส่วนหนึ่งยังต้องเพิ่มทักษะ รวมทั้งครูจบใหม่ ซึ่งยังขาดทักษะและประสบการณ์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพและเพียงพอตามความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นการปรับปรุงการผลิตกำลังคนในระบบอาชีวศึกษา จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสอดคล้องกับกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ที่มุ่งพัฒนาครูยุคใหม่ให้มีคุณภาพ”
“โครงการเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษานี้ จะช่วยสนับสนุนแผนพัฒนาของไทยดังกล่าว และยังเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค การประชุมระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ในภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ เพื่อพัฒนาครูและศักยภาพของหน่วยงาน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายในปีพ.ศ. 2563” รศ. ดร.นำยุทธ กล่าวเสริม
มร. โทมัส ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการ RCP กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในประชาคมอาเซียนและจีนมีการพัฒนาในอัตราเร่ง ระบบการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมอาชีพ จึงจำเป็นที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการอาชีวะและเทคนิคศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสนองตอบต่อนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะตามความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษา มุ่งส่งเสริมคุณภาพของครูอาชีวศึกษา โดยปรับปรุงสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ในการพัฒนาทั้งด้านการสอนและการวิจัย รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ และการจัดการการเรียนรู้ต่างๆ ให้สอดคล้องกันอีกด้วย”
การพัฒนาและการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาเป็นสาขาหนึ่งที่ GIZ มีความเชี่ยวชาญ และให้ความสำคัญในการร่วมมือกับนานาประเทศ ความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน ได้ดำเนินมากว่า 55 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการก่อตั้งโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมันในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งถือได้ว่าการอาชีวศึกษาเป็นสาขาแรกของความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน นับแต่นั้นมา การศึกษาจึงกลายเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของความร่วมมือ นอกจากนี้ GIZ ยังได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ปรับปรุงคุณภาพการอาชีวศึกษาตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ” มร. โทมัส กล่าวเสริม
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นองค์กรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ GIZ ยังปฏิบัติภารกิจในนามของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ