นอกจากนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคมที่สำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ การเดินทางด้วยรถไฟ โดยชาวต่างชาติได้ขออนุญาตสร้างทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง ในครั้งนั้น ไทยเล็งเห็นถึงประโยชน์หลายประการ ไม่ว่า การใช้เส้นทางในการขนส่ง คมนาคม ในยามปกติ หรือ การใช้ลำเลียงเสบียง อาวุธ หรือพาหนะในการส่งสาร ยามเกิดภาวะสงคราม สมุทรปราการ และเส้นทางรถไฟสายนี้ นับได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดยเอกชน ในรูปแบบของบริษัท เรียกกันในสมัยนั้นว่า “กอมปานีรถไฟ“ หรือ “บริษัทรถไฟปากน้ำ”
เส้นทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง ตลอดระยะทางมี 10 สถานี จากสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ บางนางเกรง มหาวงษ์ แล้วก็ไปสิ้นสุดปลายทางเป็นโรงสังกะสีขนาดใหญ่ที่ปากน้ำ คิดค่าบริการสถานีละ 1 เฟื้อง หรือเท่ากับ 12.5 สตางค์ และมีหัวรถจักรใช้งานทั้งสิ้น 4 หัว ได้แก่ หัวแรก ไม่ปรากฏชื่อ หัวที่สองชื่อ ปากน้ำ หัวที่สามชื่อ บางจาก หัวที่สี่ชื่อ สำโรง
“เส้นทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง เปิดให้บริการเพียง 50 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2479 ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คงเหลือไว้แต่เพียงบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวไทยสามารถที่จะธำรงรักษามรดกแห่งประวัติศาสตร์ไทยให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้มีโอกาสเห็นหรือสัมผัสนั่นคือ หัวรถจักรโบราณเส้นทางรถไฟสายแรก เพื่อจุดประกายและกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของหัวรถจักร อันนำไปสู่การค้นหาและรวบรวมหัวรถจักรต่อไปในอนาคต ก่อนที่จะสูญหายไปอย่างถาวร เพื่อนำมาจัดแสดงให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ล้ำค่าของไทย
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้ค้นพบหัวรถจักรและนำมาบูรณะจัดแสดงเป็นคันแรก คือ หัวรถจักรโบราณสายแรกของไทย ซึ่งไม่สามารถหาชมที่ไหนได้อีก อายุกว่า 100 ปี ซึ่งจะจัดแสดง ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่บุคคลที่สนใจเข้าชม ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อนที่จะย้ายไปจัดแสดงอย่างถาวร ณ อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวสรุปถึงความสำคัญและการรักษา หัวรถจักร ทรัพย์สินอันมีค่าทางประวัติศาสตร์
อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่นำพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ท่องเที่ยวและพักผ่อน ให้แก่ชุมชน ประชาชนคนไทย นั่นคือ อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ นั่นคือ 1) พิพิธภัณฑ์เด็ก เน้นรูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการ และการเรียนรู้แบบลงมือทำด้วยตนเองผ่านชุดนิทรรศการที่ทันสมัยเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการและการสงสัยเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาทางความคิดและพัฒนาสังคมในอนาคต 2) พิพิธภัณฑ์สมุทรปราการ นำเสนอเรื่องราวประวัติความเป็นมาของจังหวัดสมุทรปราการ และมีอัตลักษณ์ของตนเองถึงชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมือง 3) ห้องสมุด รวบรวมหนังสือ สื่อทันสมัย และสื่อการเรียนการสอน อาทิ วีซีดีและดีวีดี ไว้บริการแก่สถาบันศึกษาต่างๆ ภายในจังหวัดสมุทรปราการ 4) หอชมเมืองสมุทรปราการ ความสูง 139 เมตร จุดชมวิวของเมืองปากน้ำและความงามตามธรรมชาติ โดยอุทยานแห่งนี้ ก่อสร้างบนพื้นที่ 13 ไร่ บริเวณเรือนจำเก่าจังหวัดสมุทรปราการ ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 593 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรปราการ จำนวน 54 ล้านบาท
“ทั้งหมดนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาหัวรถจักรโบราณเก่าแก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดี ป้อมปราการและค่ายปืน หรือการก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ ด้วยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี การธำรงรักษาสิ่งอันเป็นมรดกล้ำค่าทางด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรปราการสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเชื่อว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และจังหวัดสมุทรปราการก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยวที่จะมีบทบาทสำคัญต่อไปในอนาคต” นายชนม์สวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย