นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึง การดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการเชิงรุกในตลาดอาเซียน(9ประเทศ)ว่า สถานการณ์การส่งออก 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ อาเซียนซึ่งเป็นตลาดศักยภาพสูงมีมูลค่าการส่งออกรวม 28,625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 8.8 แสนล้านบาท) หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปี 2554 ไทยส่งออกรวมคิดเป็นมูลค่า 54,045 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ เพิ่มขึ้น 22% มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 6,218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่กัมพูชามีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 46% หรือ 19,49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน 10 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพาราคา เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
สำหรับการนำเข้า 6 เดือนแรก อาเซียนนำเข้ารวม 19,847 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 619,577แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ถ่านหิน สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก รถยน์นั่ง เป็นต้น
นอกจากการไทยส่งออกไปยังมาเลเซียในอันดับแรกแล้ว สถิติการส่งออกที่น่าสนใจไปยังอินโดนีเซียมีมูลค่า 5,690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 11% สิงคโปร์ 5,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 % ฟิลิปปินส์ 2,437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 11 % พม่า 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 15 % โดยการส่งออกไปยังกัมพูชาสินค้า 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นทุกรายการ มีอัตราเติบโตระหว่าง 14 — 380% ในขณะที่การส่งออกไปพม่าสินค้า 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้น 8 รายการ มีอัตราการขยายตัวระหว่าง 3 - 156%
นายภูมิ กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ แม้ว่าอยู่ในลำดับที่ 3 และมีอัตราชะลอตัว โดย 6 เดือนแรกของปี 54 มีอัตราขยายตัวกว่า 32% หรือ 5,479 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและหนี้สินของประเทศในยูโรโซน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯและจีน ซึ่งได้มีการเตือนจากภาครัฐว่า อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ลดลง
“แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 59 ประเทศ ปรากฎว่า ในปี 2555 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 4 รองจากฮ่องกง สหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเหตุผลที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัว ผลผลิตลดลง และราคาสินค้าสูงขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 2 แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ลดลง แต่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาช่วงสั้นๆ อันเนื่องมาจาการการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยที่ภาครัฐเริ่มนโยบายจำกัดการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ และให้ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้น” นายภูมิ กล่าว