โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ให้ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมนี โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 - ธันวาคม พ.ศ. 2556)
รศ.ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ แรงงานที่มีคุณภาพ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ เนื่องจากครูอาชีวะมีไม่เพียงพอ และที่มีอยู่ส่วนหนึ่งยังต้องเพิ่มทักษะ รวมทั้งครูจบใหม่ ซึ่งยังขาดทักษะและประสบการณ์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพและเพียงพอตามความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นการปรับปรุงการผลิตกำลังคนในระบบอาชีวศึกษา จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสอดคล้องกับกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ที่มุ่งพัฒนาครูยุคใหม่ให้มีคุณภาพ”
“โครงการเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษานี้ จะช่วยสนับสนุนแผนพัฒนาของไทยดังกล่าว และยังเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค การประชุมระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ในภูมิภาค จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ เพื่อพัฒนาครูและศักยภาพของหน่วยงาน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ภายในปีพ.ศ. 2563” รศ. ดร.นำยุทธ กล่าวเสริม
มร. โทมัส ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการ RCP กล่าวว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในประชาคมอาเซียนและจีนมีการพัฒนาในอัตราเร่ง ระบบการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมอาชีพ จึงจำเป็นที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการอาชีวะและเทคนิคศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสนองตอบต่อนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี โดยผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะตามความต้องการของตลาดแรงงาน โครงการเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษา มุ่งส่งเสริมคุณภาพของครูอาชีวศึกษา โดยปรับปรุงสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ในการพัฒนาทั้งด้านการสอนและการวิจัย รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ และการจัดการการเรียนรู้ต่างๆ ให้สอดคล้องกันอีกด้วย”
การพัฒนาและการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาเป็นสาขาหนึ่งที่ GIZ มีความเชี่ยวชาญ และให้ความสำคัญในการร่วมมือกับนานาประเทศ ความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน ได้ดำเนินมากว่า 55 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการก่อตั้งโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมันในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งถือได้ว่าการอาชีวศึกษาเป็นสาขาแรกของความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน นับแต่นั้นมา การศึกษาจึงกลายเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของความร่วมมือ นอกจากนี้ GIZ ยังได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ปรับปรุงคุณภาพการอาชีวศึกษาตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ” มร. โทมัส กล่าวเสริม
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นองค์กรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ GIZ ยังปฏิบัติภารกิจในนามของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ
ในภาพ (จากซ้าย)
มร. กวาง-โชว ชาง หัวหน้าหน่วยปฏิรูปนโยบายการศึกษา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กรุงเทพฯ
ศ.ดร. เฟง เซียว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวะและเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยทงจิ ประเทศจีน
ดร. โทมัส ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษา (RCP)
รศ.ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ดร. พาร์โยโน่ รองผู้อำนวยการกิจกรรมเสริมสร้างอาชีพ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO VOCTECH)
ดร. โทมัส มูลทอปป์ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และ
มร. เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 33 โทรสาร 02 661 9281, 82 อีเมล์ [email protected]