คปก.ดันร่างพ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ ขยายหลักประกัน สร้างความเชื่อมั่นเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้

พุธ ๑๕ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๒๕
คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจพ.ศ....” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวชั่น แจ้งวัฒนะ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. คณิต นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเปิดงานสัมมนา

ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับการปฏิรูปกฎหมาย”ว่า คปก.เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81(3) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นองค์กรหลักของชาติที่ดำเนินการเป็นอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทั้งระบบ ซึ่งดำเนินงานมาแล้วประมาณ 1 ปีเศษโดยหลักในการปฏิรูปกฎหมายจะยึดถือหลัก 2 ประการคือ1.การใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่ดำเนินการตามความประสงค์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งจะตอบชัดว่าไม่ได้ปฏิรูปกฎหมายตามใจผู้ร่างกฎหมายหรือตามความประสงค์หน่วยงานรัฐ 2.จะยึดโยงการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยการประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้คาดหวังว่าจะผลักดันกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป ขณะเดียวกันเชื่อไม่มีใครเสียประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คปก.ต้องการสร้างกฎหมายที่เป็นธรรม และทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวอภิปรายในหัวข้อ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจพ.ศ....ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันโดยวิธีจำนองและจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับเห็นว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้เพื่อหาทุนมาใช้ในการประกอบกิจการในลักษณะที่ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และเห็นว่าเป็นกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า คปก.จึงหยิบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตรวจพิจารณาอีกครั้งและเลือกแก้ในประเด็นสำคัญโดยพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ทางวิชาการ ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจให้เป็นธรรมและทันต่อสถานการณ์

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า หากพิจารณาในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในแง่สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จะประกอบด้วยสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รูปแบบของสัญญา สถานะของผู้ให้หลักประกันจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ รวมถึงประเภทและลักษณะของทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งได้แก่ กิจการ สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และสิทธิเรียกร้องซึ่งไม่จำกัดไว้เฉพาะสิทธิเรียกร้องในหนี้เงิน แต่รวมถึงสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆด้วย โดยสิทธิของผู้ให้หลักประกันเองมีสิทธิครอบครอง ใช้สอย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่ายโอนและจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ใช้ในการผลิต นำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ฯลฯ ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น ประกอบกับมีสิทธิที่จะได้รับทราบจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระ ประกอบกับมีสิทธิไถ่ถอนทรัพย์สินก่อนมีการจำหน่ายทรัพย์ และมีสิทธิที่จะได้รับหนังสือยินยอมให้ยกเลิกการจดทะเบียน เมื่อหนี้ระงับ เมื่อตกลงยกเลิก หรือเมื่อมีการไถ่ถอนทรัพย์สิน

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.ห้ามผู้ให้หลักประกันนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไปจำนำต่อและรับผิดเพื่อความเสียหายในกรณีที่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสูญหายหรือเสื่อมราคาลง เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าความเสียหายดังกล่าวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุที่ตนต้องรับผิดชอบ ขณะที่สิทธิของผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอื่นที่รวมเข้ากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ถ้าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันรวมเข้ากับทรัพย์สินของบุคคลอื่นจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ ตามร่างมาตรา 30 นอกจากนี้ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันได้มาแทนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินผู้รับหลักประกันอาจบังคับหลักประกันได้ 2 วิธี คือให้ทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิ และจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ส่วนการให้ทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิได้ต่อเมื่อ ค้างชำระต้นเงินมากกว่าร้อยละ 60 และไม่มีหลักประกันรายอื่น ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุบังคับหลักประกัน ห้ามลูกหนี้จำหน่ายจ่ายโอนและผู้รับหลักประกันมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สิน แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบ ” นายพสิษฐ์ กล่าว

นายกกฤษฎา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกกำหนดเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ประกันซึ่งจะได้รับการอนุมัติเงินกู้มากขึ้น ในขณะที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่วนผู้รับหลักประกันก็มีหลักประกันก็วางใจที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ตามร่างพ.ร.บ.นี้มีประเด็นที่มีความเห็นต่างกันหลายประเด็น ได้แก่ ทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะสามารถนำมาเป็นหลักประกัน ส่วนเรื่องบัญชีเงินฝากสมควรนำมาเป็นทรัพย์หลักประกันได้หรือไม่ ขณะที่กรณีที่เกี่ยวกับระบบการจดทะเบียนมีปัญหาว่า จะเชื่อมโยงกับระบบจำนองได้อย่างไร ขณะที่ภาระที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์ ซึ่งจะลักษณะของธุรกิจที่ต่างกันออกไปจะมีความยากในการตีความต่างกันออกไปด้วย ส่วนเรื่องระยะเวลาการบังคับชำระหนี้ ก็เปิดช่องให้คู่สัญญาตกลงกันแทนการกำหนดตายตัว

รศ.ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ พยายามสร้างความสมดุลระหว่างสองฝ่าย คือ ฝ่ายลูกหนี้ ก็ได้เงินไปดำเนินกิจการ สามารถใช้สอย และเปลี่ยน หรือจำหน่ายจ่าย โอนทรัพย์ได้ และมีการขยายของเขตของทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ส่วนฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เกิดความมั่นใจที่จะบังคับชำระหนี้แก่ลูกหนี้มากขึ้น เนื่องจากการประกันตามปกติ ทรัพย์สินจะอยู่ในความครองครองของลูกหนี้ไม่มีหลักประกันใดจึงยากที่จะบังคับได้

รศ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการกำหนดข้อจำกัดในหลายประการ คือ การกำหนดตัวทรัพย์ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ขณะที่รูปแบบของสัญญาหลักประกัน โดยทั่วไปแล้วทุกประเทศกำหนดรายละเอียดเอาไว้ แต่มีเพียงบางประเทศที่ตื่นตัวและพัฒนากฎหมายให้ตามทันระบบธุรกิจ หลายประเทศได้ตกผลึกเรื่องหลักประกันเพราะได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กรณีประเทศไทย บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อให้เกิดข้อจำกัด เช่น ตัวทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน การบังคับทรัพย์ การตีความของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มักจะตีความอย่างแคบ ในทางปฏิบัติจึงเกิดความเสียหายโดยเฉพาะความเสียหายต่อธนาคาร เช่น ไม่ได้รับบังคับชำระหนี้ หลักประกันไม่สมบูรณ์

“ประเทศต่างๆในอาเซียนมีกฎหมายดังกล่าวก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทย ประเทศไทยจึงควรจะเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆให้ทันการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558” รศ.ไพฑูรย์ กล่าว

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version