๑๐ ปีวันสตรีไทย สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน ผนึกกำลังจัดกิจกรรมเทิดไท้ราชินี

พฤหัส ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๔:๔๗
สภาสตรีแห่งชาติฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สธวท-กรุงเทพฯ ร่วมด้วยภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน กว่า ๔๐ แห่ง ผนึกกำลัง ร่วมส่งเสริมบทบาทสตรีไทย จัดกิจกรรมในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และในวาระครบรอบ ๑๐ ปี วันสตรีไทย ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ด้วยการเสวนา “สูตรลับทายาทธุรกิจ ปูทางสู่ AEC” วันที่ ๒๗ สิงหาคมนี้ โดยได้รับเกียรติจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานคณะกรรมการการจัดงานวันสตรีไทย เปิดเผยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ สำหรับปีนี้นับเป็นการครบรอบ ๑๐ ปี วันสตรีไทย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมพลังกันจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ ๑๐ วันสตรีไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพของสตรีไทย ตลอดจนถือเป็นโอกาสที่สตรีทุกคนจะได้มาทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตนเองตามแนวพระราชดำรัสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานไว้ให้ ๔ ประการ ทั้งในเรื่องของการเป็นแม่ การเป็นแม่บ้าน การรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย และการหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานดอกคัทลียา ควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีไทยอีกด้วย

วันสตรีไทยจึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่สตรีไทยทุกคนจะเข้ามาร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ภายใต้กรอบแนวคิด “๑๐ ปี วันสตรีไทย : พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ แม่บ้านให้ดี รักษาเอกลักษณ์ความเป็นสตรีไทย และฝึกฝนตนเอง” ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศตลอดเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕” ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติฯ ขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ และองค์กรภาคีภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินทุกแห่งที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมวันสตรีไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ ๔ และเป็นที่น่ายินดีว่ามีภาคีเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสำคัญในเรื่องบทบาทสตรี และสตรีไทยเองก็จำเป็นจะต้องตื่นตัวและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ สภาสตรีแห่งชาติฯ ก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๙๙ มีองค์กรสตรีภาคเอกชนในทุกจังหวัดกว่า ๒๓๐ องค์กร และเครือข่ายองค์กรสตรีไทยในภูมิภาคยุโรปอีก ๑ แห่ง ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์มองไกล ๕๐ ปี สภาสตรีแห่งชาติฯ และสตรีไทย ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอำนวยการสมัยที่ ๒๓ นี้ ว่า “อาเซียนที่เชื่อมโยง : หนึ่งประชาคม หลากหลายโอกาส” และแนวทางความร่วมมือของประชาคมอาเซียนใน ๓ เสาหลักคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในจัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสวันสตรีไทยปี ๒๕๕๕ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๔ นับเป็นวาระสำคัญ และเป็นโอกาสที่ดีที่จะกระตุ้นเตือนให้สังคมไทย ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสตรี ซึ่งในยุคปัจจุบัน บทบาทของสตรีในประเทศไทย มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากบทบาทของสตรีในเวทีต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สำหรับภาคตลาดทุน มีไม่น้อยที่สตรีมีบทบาทเป็นผู้นำองค์กร และมีส่วนช่วยในการบริหารงานทุกภาคส่วนให้เจริญรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน สตรีก็ต้องทำหน้าที่แม่ และภรรยา ดูแล สมาชิกใน ครอบครัว และเป็น working woman ทำงานหารายได้ อีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องดูแลและบริหารเงินของครอบครัว เพื่อจัดสรรการใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้ความสำคัญในวันสตรีไทย โดยจัดตั้ง “ชมรมสตรีไทย ห่วงใยสุขภาพ” ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมภายในองค์กร เช่น การวิ่งเพื่อสุขภาพ การบริจาคโลหิต การอบรมให้ความรู้อย่างจริงจังในเรื่อง ”มะเร็งเต้านม” ให้แก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานหญิงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยชมรมสตรีไทย ห่วงใยสุขภาพ มีแผนงานที่จะวางเครือข่ายขยายแนวคิดเรื่องการห่วงใยสุขภาพไปยังสตรีในองค์กรอื่นๆ ของภาคตลาดทุนไทยต่อไป”

ในส่วนของภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน นำโดยนางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน ประธานคณะกรรมการประสานงานภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน สภาสตรีแห่งชาติฯ นายก สธวท-กรุงเทพฯ และกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “วันสตรีไทยนับเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการรวมพลังของสตรีเพื่อการทำงาน และจากรายงานของ Economist Intelligence Unit นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลดัชนีวัดโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง (Women’s Economic Opportunity Index) ประจำปี ๒๐๑๒ ซึ่งการจัดทำดัชนีนี้ ได้เก็บข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากสหประชาชาติ (UN) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น โดยเก็บข้อมูลจาก ๑๒๘ประเทศ และมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย พบว่า ๕ ประเทศแรกที่มีดัชนีวัดโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงมากที่สุด ได้แก่ สวีเดน นอรเวย์ ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ ๔๗ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีมากในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ อันดับที่ ๓๑ (ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับที่ ๕๓ ฟิลิปปินส์ ๗๔ อินโดนีเซีย ๘๕ เวียดนาม ๘๗ กัมพูชา ๙๖ และ ลาว ๑๐๙) นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจการเงินของไทยที่เป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศ ล้วนแล้วแต่มีผู้นำเป็นสุภาพสตรีและมีบทบาทที่สำคัญในองค์กรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในการจัดงานวันสตรีไทยโดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ ๔ มีภาคีร่วมงานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกว่า ๔๐ แห่ง โดยได้ทำกิจกรรมด้านพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพสตรีอย่างต่อเนื่องทั้งปี รวมกว่า ๗๐ กิจกรรม และจะเน้นการทำกิจกรรมเป็นพิเศษในช่วงเดือนสิงหาคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องวันสตรี และรณรงค์เรื่องพระราชดำรัสบทบาทสตรีไทย ๔ ประการ ทั้งนี้ กิจกรรมของภาคธนาคาพาณิชย์ จะมุ่งเน้นไปในด้าน Financial Literacy หรือการสร้างวินัยทางการเงินให้กับกลุ่มสตรี

กิจกรรมพิเศษในแต่ละปีคือการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่างๆ ผ่านหัวข้อสัมมนาที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ปี ๒๕๕๒ สัมมนาเรื่องผู้หญิงยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ปี ๒๕๕๓ หัวข้อมุมมองการบริหารการเงิน ของสตรียุคใหม่ ปี ๒๕๕๔ หัวข้อถอดรหัสสู่ความสำเร็จ...นักธุรกิจรุ่นใหม่

และในปี ๒๕๕๕ องค์กรภาคีทั้ง ๔๐ แห่ง อาทิ สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ เมืองไทยประกันชีวิต เป็นต้น มองว่าการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในอีก ๓ ปีข้างหน้า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติ จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา ๑๐ ปีสตรีไทยโดยภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน ภายใต้หัวข้อ “สูตรลับทายาทธุรกิจ ปูทางสู่ AEC” และได้รับเกียรติจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมอาเซียนและนักธุรกิจชั้นนำของประเทศให้เกียรติร่วมเสวนา อาทิ นางยุวดี จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เถ้าแก่น้อยหรือนายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด นายชาลี โสภณพานิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซิตี้เรียลตี้ จำกัด รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมี ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฮต์ไลท์ของการเสวนาจะได้รับการบันทึกไว้ที่เว็บไซต์ของสภาสตรีแห่งชาติฯ (www.thaiwomen.or.th) และเว็บไซต์ สธวท-กรุงเทพฯ (www.bpwbangkok.org) ซึ่งสามารถติดตามชมได้ในวันถัดไป (๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕)

นอกจากนี้ ภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน ยังได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เนื่องในวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๕ “๑๐ ปี วันสตรีไทย : พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ แม่บ้านให้ดี รักษาเอกลักษณ์ความเป็นสตรีไทย และฝึกฝนตนเอง” โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน ได้แก่

? กิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดนิทรรศการวันสตรีไทย

? กิจกรรมจัดอบรมและเสวนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการเงิน การออม และการลงทุนแก่สตรีไทย รวมถึงการจัดโปรโมชั่นพิเศษให้กับลูกค้าในช่วงสัปดาห์วันสตรีไทย

? กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสตรี อาทิ ตรวจและฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก บริจาคโลหิต และอวัยวะกับสภากาชาดไทย

? กิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์วันสตรีไทย เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสตรี ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อาทิ หน้าจอตู้เอทีเอ็มกว่า ๔๐,๐๐๐ เครื่อง ทั่วประเทศ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกว่า ๖,๐๐๐ สาขาทั่วประเทศ

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.thaiwomen.or.th และ www.bpwbangkok.org

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ติดต่อ กนกวรรณ เข็มมาลัย ๐๒ ๒๒๙ ๒๐๔๘/

อารดา กุลตวนิช ๐๒ ๒๒๙ ๒๗๙๖ / จันทรา กีรติวศิน ๐๒ ๒๒๙ ๒๗๙๕

สายสังคมสตรี และธุรกิจและการเงินติดต่อทิพวรรณ วอทอง (โม) โทร. ๐๘๑ ๔๒๑ ๒๙๒๓, [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม