รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ปกติมหาวิทยาลัยฯ มีโครงการสนับสนุนการทำงาน part time ของนักศึกษา โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ที่ผ่านมามีนักศึกษามาทำงานกับมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับค่าจ้างนักศึกษา part time นักศึกษาขึ้นไปด้วย สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ของชมเชยนักศึกษาเหล่านี้
“เต้ย” นายชนุตม์ ศิริจันทรางกูร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรเทียบโอนภาคสมทบ ทำงานที่ “สตาร์บัคส์” ตำแหน่ง “บาริสต้า” ได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 55 บาท ใน 1 วัน จะทำงาน 8 ชั่วโมง ต่อวันจะได้วันละ 440 บาท เต้ยทำสัปดาห์ละ 4 วัน เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาท ทำงานวันจันทร์ — วันพฤหัสบดี ส่วน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เรียนหนังสือ นำเงินที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การทำงานในชีวิตจริง รู้สึกว่าโตขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และจริงจังกับรายละเอียดทุกเรื่อง และคำนึงถึงส่วนรวมเสมอ มีความตรงต่อเวลา “พ่อกับแม่เหนื่อยกับเรามามากแล้ว ส่วนไหนที่สามารถแบ่งเบาภาระ ผ่อนแรงพ่อกับแม่ แล้วก็ตั้งใจเสมอว่า อะไรที่ทำให้พ่อกับแม่ภูมิใจได้ก็จะทำ”
“จุ๋ม” นางสาวพัชรียา ทานเอก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับยาย เพื่อให้มีการศึกษาจึงต้องหาเงินเรียนเอง โดยเริ่มทำงานมาตั้งแต่ ม.1 โดยผ่านงานมาตั้งแต่เป็นสาวโรงงาน รับจ้างทั่วไป ซึ่งปัจจุบันทำงาน part tome อยู่ที่ MK คลอง 6 ชั่วโมงละ 40 บาท หลังเลิกเรียน เงินที่ได้มาจากการทำงานทุกบาททุกสตางค์ ต้องเป็นคนแบ่งใช้จ่ายทั้งหมด เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องทำ “ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน เหนื่อยก็พักสักเดี๋ยวก็หาย เราเกิดมาเราต้องสู้กับปัญหาทุกอย่างจะมัวแต่น้อยใจ แล้วทำไมทุกๆ วันไม่ทำมันให้ดี” ทุกคนต้องมีหน้าที่และภาระ แต่อยู่ที่ว่าภาระตรงนั้นมันจะหนักหรือเบาเท่านั้นเอง ทุกอย่างถ้ากายและใจสู้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก เวลา 4 - 5 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยฯ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น ถ้าก้าวพลาดมันจะพลาดไปเลย กลับไปแก้ไขไม่ได้เลย
“เฟง” นายพิสุทธิ์ สมบุญ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เล่าว่า รับทำงานออกแบบตกแต่งบ้าน ห้องประชุมต่างๆ สวนหย่อม ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่รับมาทำจะเกี่ยวกับการเรียน รายได้ที่ได้รับจากการทำงานแต่ละชิ้นจะไม่เท่ากัน งานบ้างงานสามารถออกแบบคนเดียวได้ แต่บ้างงานต้องอาศัยทีมงานหลายคน ค่าตอบที่ได้จากการทำงานสามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่บ้านได้ ทำงานไปเรียนไป ได้อะไรหลายๆ อย่าง ที่สำคัญได้รับความรู้จากการทำงาน นอกจากเงินที่ได้เป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ยังเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ งานฝึกการแก้ไข แก้ปัญหา รับผิดชอบ ทำให้รู้ว่า สายงานที่เรียนเหมาะกับตนเองหรือไม่ ได้มุมมองการมองชีวิต
“กิ๊บกิ้ว” นางสาวนภสกร สัมฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า รับงานอีเว้ทน์ตามงานต่างๆ รายได้ตกวันละ 300 - 500 บาท ทำงานเก็บเงินไว้ใช้ในยามที่จำเป็น อีกไม่กี่เดือนจะสำเร็จการศึกษา จะนำเงินที่สะสมจากการทำงานไปใช้ ไม่ว่า จะเป็นค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต เนื่องจากสงสารพ่อที่ต้องทำงานส่งเรียน พ่อทำงานไม่เคยบ่น อยากได้อะไรพ่อก็ให้ เมื่อเรียนจบแล้วไม่อยากที่จะรบกวนเงินจากพ่อ การทำงานยังพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น งานรับคีย์ข้อมูล ทำให้พิมพ์เร็วขึ้น ทำให้รู้คุณค่าของเงิน “เงินที่ได้มาจากการทำงาน มีความรู้สึกว่าจะไม่อยากใช้” เพื่อนๆ ที่มีเวลาว่าง ลองหางานพิเศษทำ ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไป แต่ละวันที่ทำงาน แต่ละสถานที่ จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
วัยเรียนวัยทำงานควบคู่กันไป ประสบการณ์ชีวิตที่คุ้มค่า ทั้งประสบการณ์นักศึกษาและประสบการณ์คนทำงาน วิชาชีวิตที่หาซื้อจากไหนไม่ได้ นอกจากความพยายามในการไขว่ขว้าของแต่ละบุคคล ต้องตบมือให้กับนักศึกษาทุกคนที่สามารถแบ่งเวลา บริหารเวลาได้อย่างลงตัว เด็กดีตัวอย่างของสังคมไทย