นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุน (employee’s choice) ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆเห็นถึงประโยชน์ที่สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้ ประกอบกับ ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ รวมทั้งเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ตนคาดหวัง
ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ นายจ้างที่จัดให้มี employee’s choice แก่สมาชิก มีจำนวน 3,710 ราย เพิ่มขึ้น5% จากไตรมาสแรก หรือคิดเป็น 31.5% ของจำนวนนายจ้างทั้งหมดในประเทศ เทียบกับ 30.7%ในไตรมาสแรก ขณะที่กองทุนหลายนโยบายการลงทุน (master fund) มีจำนวน 106 กองทุน เพิ่มขึ้น 1.9%จากไตรมาสแรก คิดเป็น 23.6% ของจำนวนกองทุนทั้งหมด
สำหรับจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นไตรมาส 2 พบว่าลดลงเล็กน้อย โดยเป็นการยกเลิกกองเพื่อเข้าร่วมกองทุนหลายนายจ้างที่มีหลายนโยบายการลงทุน (master pooled fund) เมื่อพิจารณาขนาดกองทุนพบว่า 83.7% ของกองทุนทั้งหมดเป็นกองทุนขนาดใหญ่กว่า 100 ล้านบาท และ 78.2% ของกองทุนทั้งหมดมีจำนวนสมาชิกกองทุนมากกว่า 500 คน
ภาพรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในไตรมาสสองยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) จำนวนนายจ้าง และจำนวนลูกจ้าง โดย NAV อยู่ที่ 656,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8%จำนวนนายจ้าง 11,793 ราย เพิ่มขึ้น 295 ราย หรือ 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และจำนวนลูกจ้าง 2.338 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 คน หรือ 0.3%
“จำนวนนายจ้างที่จัดให้มี employee’s choice เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นอกจากจะช่วยให้การบริหารเงินออมของสมาชิกแต่ละคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เงินออมของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการเตรียมการให้คนในวัยเกษียณอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยบรรเทาภาระของลูกหลานและงบประมาณของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ก.ล.ต. สนับสนุนการจัดให้มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายเพื่อให้ตลาดทุนไทยเอื้อต่อการออมและการลงทุนของประชาชนทุกกลุ่ม” นางดวงมน กล่าว