วันนี้ (21 สิงหาคม 2555) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 10 อุบลราชธานี ร่วมกับมูลนิธิประชาสังคมและเครือข่ายจัดการประชุมเวทีสมัชชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปแบบมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา18(13) ประจำปี 2555 ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลเขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี หลังจัดเวทีไปแล้วใน 2 ครั้งที่อำเภอพิบูลมังสาหารและเดชอุดม ดังนั้น เวทีนี้จึงถือเป็นเวทีต่อเนื่องที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการด้านสุขภาพ โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จาก 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง เขื่องใน เหล่าเสือโก๊ก ดอนมดแดงและม่วงสามสิบ
ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญในประเด็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจในกลไกต่างๆของนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยผู้เข้าเข้าร่วมเวทีส่วนมากเสนอว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรจะทำงานเชิงรุกในการเข้าหาประชาชนในพื้นที่ต่างๆเพื่อทำความความเข้าใจและเป็นการประชาสัมพันธ์รายละเอียดของนโยบาย เช่น สิทธิการคุ้มครองดูแลในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการรักษาทั้งกรณีของผู้รับและผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เขียนโครงการเพื่อขอรับงบประมาณมาสนับสนุนชุมชนในเรื่องหลักประกันสุขภาพ แต่ก็มีบางท้องถิ่นที่ไม่ส่งโครงการเพื่อรับทุนเนื่องจากเห็นว่ายุ่งยากและการทำงบประมาณจะต้องนำเงินจากท้องถิ่นเข้ามาสมทบ ดังนั้น ท้องถิ่นบางแห่งจึงไม่ส่งโครงการเนื่องจากเห็นว่าต้องสมทบงบประมาณจากหน่วยงานตน จึงถือว่าทำให้ประชาชนขาดผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ที่สำคัญประชาชนส่วนมากไม่รู้ว่ามีกองทุนนี้ที่จะเข้ามา สนับสนุน จะรู้ก็เพียงผู้นำในระดับท้องถิ่นที่จะเป็นฝ่ายบริหารงบประมาณ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ สปสช. ยังทำงานเชิงรุกในการอธิบายข้อมูลให้กับประชาชนในเรื่องสิทธิที่ควรรู้ต่างๆยังไม่เต็มที่ ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องดีหาก สปสช. เป็นฝ่ายรุกเข้าหาประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
ในเรื่องสิทธิการคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพ อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เข้าเวทีในฐานะนักวิชาการผู้สังเกตการณ์ ได้กล่าวว่า ควรจะเปลี่ยนจากคำว่า “การคุ้มครอง” เป็น “การเยียวยา” เนื่องจากเห็นว่าการคุ้มครองมักจะมีขั้นที่ตอนยุ่งยาก เช่น อาจจะต้องมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องและพิจารณาที่เป็นไปตามขั้นตอนซึ่งอาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับสิทธิ์การคุ้มครอง แต่ถ้าเป็นการเยียวยานั้นหมายความว่าพอได้รับอุบัติก็ให้มีการเยียวยาทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้องซึ่งให้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเร่งด่วนที่จะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิ์อย่างทันที
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งในเวทีได้เสนอว่าอยากให้มีการบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่เฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรงเท่านั้น หากแต่รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เป็นผู้พิการที่อาจจะไม่ป่วยรุนแรงหรือได้รับอุบัติเหตุหากแต่เป็นผู้ที่มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้ไม่มาก เช่น คนตาบอด ผู้พิการแขนขาหรือผู้พิการลักษณะอื่นๆซึ่งเดินทางไปมาลำบาก ก็ควรจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งถ้าหากทำได้อย่างที่ว่า ก็นับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการที่จะสนับสนุนให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากยิ่งขึ้น