นายฉัตรชัย อุ่นเจริญ นายอำเภอบ้านแฮด และประธานในพิธี กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า ในอดีตมีความสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลา กุ้ง หอย เป็นต้น เนื่องจากว่ามีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำชี ทำให้ช่วงฤดูฝนมีพันธุ์ปลาอพยพเข้ามาวางไข่และเจริญเติบโต ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร รายได้ที่สำคัญของชุมชน แต่ปัจจุบันปริมาณทรัพยากรของพันธุ์ปลา สัตว์น้ำลดลงทุกปี ด้วยสาเหตุมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในพื้นที่ และอีกปัจจัยหนึ่งคือชุมชนยังขาดกฏระเบียบการใช้ทรัพยากรในพื้นที่แก่งละว้า ดังนั้นการจัดกิจกรรมในวันนี้นับเป็นกิจกรรมที่ดีมากและขอชื่นชมในความพยายามของชาวบ้านที่ต้องการรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่แก่งละว้าบริเวณหน้าบ้านของเราไว้ดี และอยากให้มีกิจกรรมเช่นนี้ตลอดทุก ๆ ปี
“นับเป็นนิมิตรหมายและความก้าวหน้าที่ดีอีกครั้งหนึ่ง ที่ทางอำเภอบ้านแฮด โดยเฉพาะพื้นที่เทศบาลตำบลโคกสำราญ ชาวบ้านดอนปอแดง บ้านโคกสำราญที่ได้มีโอกาสร่วมกับทุกภาคส่วนในวันนี้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและภาคธุรกิจ ในการมาทำความดีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และยังมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน รวมทั้งลูกหลานของเราในอนาคต” นายอำเภอบ้านแฮด กล่าว
ด้านนายมานิต ศรเสนา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโคกสำราญ กล่าวถึงความเป็นมาของกิจกรรมว่า ด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า ในอดีตมีความสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลา กุ้ง หอย เป็นต้น เนื่องจากว่ามีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำชี ทำให้ช่วงฤดูฝนมีพันธุ์ปลาอพยพเข้ามาวางไข่และเจริญเติบโต ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชน แต่ปัจจุบันปริมาณทรัพยากรของพันธุ์ปลา สัตว์น้ำลดลงทุกปี และอีกปัจจัยหนึ่งคือชุมชนยังขาดกฏระเบียบการใช้ทรัพยากรในพื้นที่แก่งละว้า
“จากปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชน ดังนั้น ทางเทศบาลตำบลโคกสำราญ WWF ประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ โคคา โคลา ประเทศไทย จึงร่วมกับชุมชนบ้านดอนปอแดง ทั้ง 2หมู่ จัดเวทีแลกเปลี่ยน โดยมีมติร่วมกันจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ขึ้นบริเวณหนองน้ำใกล้เคียงกับโรงเรียนบ้านดอนปอแดง พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ”
ส่วน นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า WWF-ประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนบ้านดอนปอแดง เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการที่ดำเนินการในปีแรก โดยก่อนที่จะมีกิจกรรมในวันนี้ทางโครงการ ฯ ได้ร่วมกับชุมชนศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพทั่วไป พบว่าชุมชนดอนปอแดง มีการพึ่งพาทรัพยากรด้านการประมงในแก่งละว้าเกือบทุกหลังคาเรือน แต่ปริมาณสัตว์น้ำกลับมีแนวโน้มลดลงทุกปีอย่างเห็นได้ชัด จึงร่วมกันนำเสนอข้อมูลต่อชุมชนเพื่อตัดสินใจหาทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไร จึงได้มีมติร่วมกันจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันืปลาและพันธุ์สัตว์น้ำขึ้น
นายสวัสดิ์ มูลราช ผู้ใหญ่บ้านดอนปอแดง หมู่ที่ 16 และประธานเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำ เล่าว่า เมื่อก่อนชุมชนได้พึ่งพาทรัพยากรจากแก่งละว้าโดยเฉพาะการจับสัตว์น้ำ สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีกฏระเบียบการใช้ประโยชน์ ทำให้ปลาในแก่งละว้าลดลงทุกปี
“ชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมกับ WWF โดยทางหน่วยงานได้พาชุมชนเรียนรู้และให้ข้อมูลสถานการณ์ของแก่งละว้า จากนั้นได้พาตัวแทนไปศึกษาดูงานการทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่ต่าง ๆ และกลับมาร่วมประชาคม ซึ่งชุมชนต่างเห็นดีด้วย ร่วมกันสร้างกฏระเบียบข้อตกลง เดินทำแนวเขต ตัดกิ่งไม้ลงให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามดูแล”