นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าต้องยอมรับว่าทางรัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนผู้มีเงินฝากในประเทศไทย ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศที่ปัจจุบันยังมีความอ่อนไหวอยู่ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่พบว่าสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของธนาคารทั่วโลกลงจำนวนมาก และในหลายประเทศที่มีการคุ้มครองเงินฝากในวงเงินน้อย ก็ได้พิจารณาเพิ่มวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน
ล่าสุด สำหรับสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ได้มีการปรับแผนการรับมือ จากเดิมที่จะมีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาเหลือ 1 ล้านบาท ตามกำหนดเดิม คือตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2555 นั้น ( วงเงินคุ้มครองเท่ากับ 1 ล้านบาท ต่อ1รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ) เพราะเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสินทรัพย์และการเคลื่อนย้ายเงินฝากของผู้ฝาก ตลอดจนเพื่อเป็นการให้เวลาในการปรับตัวของผู้ฝากเงินเอง
ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เลื่อนการกำหนดเพดานการคุ้มครองเงินฝากแบบเดิม ออกไปอีก 3 ปี โดยคงระดับการคุ้มครองไว้ที่ 50 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจต่อระบบการเงินและสถาบันการเงินด้วย
อย่างไรก็ดี จะมีการปรับลดวงเงินคุ้มครองต่อไปภายหลังจากปี 2558 เหลือ 25 ล้านบาทในปีที่สี่ และ 1 ล้านบาทในที่สุด โดยมีการคงหลักการให้ผู้ฝากเงินมีวินัยในการบริหารความปลอดภัยทางการเงินของตนเอง และผลักดันให้สถาบันการเงินอยู่ในกรอบความโปร่งใสที่มีมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม การที่จะมีผลใช้บังคับดังกล่าวต้องมีการแก้ไขโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ นายสิงหะกล่าวเพิ่มเติมว่าว่า แม้การคุ้มครองเงินฝากจะเลื่อนออกไปอีก 3 ปีก็ตาม แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ยังเดินหน้าต่อไป ในเรื่องของการให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ฝากเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ฝากตระหนักว่าในอนาคตสถาบันการเงินก็มีความเสี่ยงได้ ไม่ใช่ทุกสถาบันการเงินจะไม่เสี่ยงเหมือนกันหมดอีกแล้ว เมื่อถึงวันนั้นสถาบันการเงินก็ต้องพยายามแสดงความมั่นคงของตนเองออกมาให้ผู้ฝากเงินเห็น เพราะถ้าไม่มีความมั่นคงแล้ว ต่อให้เพิ่มดอกเบี้ยสูงแค่ไหนก็คิดว่าผู้ฝากเงินก็ไม่เข้ามาฝากด้วยแน่นอน
สิ่งเหล่านี้ทำให้สถาบันการเงินต้องมีการบริหารจัดการตนเองให้มีความระมัดระวังรอบคอบมากขึ้นด้วย เพราะแนวคิดของการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น “แบงก์ล้มได้” ภายใต้สภาวะการณ์ปกติในการดำเนินธุรกิจ ยกเว้นกรณีที่เป็นความเสี่ยงของทั้งระบบเหมือนช่วงวิกฤติ ในลักษณะเช่นนั้นรัฐบาลก็คงต้องเข้ามาดูแล คงปล่อยให้ล้มไปไม่ได้แน่นอน
สำหรับผู้สนใจหรือต้องสอบถามรายละเอียดต่างๆ ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สามารถติดตามหรือเสนอความคิดเห็นได้ทาง www.dpa.or.th หรือ 02-272-0400