มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสถาบันฯ ได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนพัฒนาระบบบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ ระดับอุดมศึกษา ณ โรงแรมพาวิลเลี่ยน จ.สงขลา โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาการศึกษาพิเศษเข้าร่วมประชุม และวางแผนร่วมกันเพื่อพัฒนาตามยุทธศาสตร์ โดยได้ร่วมพิจารณาแนวทางในการพัฒนางานบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้สรุปเป็นโครงการโดยยึดตามยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งโครงการตามยุทธศาสตร์มีดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างโอกาสทางการศึกษา ได้แก่ โครงการแนะแนวนักเรียนและผู้ปกครองในโรงเรียนมัธยมศึกษา โครงการจัดสรรโควตาสำหรับนักศึกษาพิการ โครงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาพิการก่อนเรียน ด้านการปรับตัวและการดำรงชีวิต ด้านทักษะพื้นฐานทางวิชาการ ด้านการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2ซึ่งเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากร (อาจารย์และเจ้าหน้าที่) อบรมให้ความรู้ ศึกษาดูงาน สนับสนุนการศึกษาต่อ โครงการพัฒนาระบบ DSS/AUSS ด้วยการจัดสรรงบประมาณ จัดสรรอัตรากำลัง จัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ โครงการศึกษานักศึกษาพิการเป็นรายกรณี โครงการพัฒนานักศึกษาพิการ ผ่านการจัดอบรมให้ความรู้ การศึกษาดูงานในสถาบันทางการศึกษาหรือสถานประกอบการ โครงการจัดเวทีแสดงศักยภาพนักศึกษาพิการ โครงการกีฬาสัมพันธ์นักศึกษาพิการ โครงการจิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โครงการอบรมอาสาสมัคร โครงการจิตอาสาของนักศึกษาพิการ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาองค์ความรู้ ประกอบด้วย โครงการวิจัย โครงการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) งาน DSS โครงการจัดประชุมวิชาการ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีงานทำของบัณฑิตผู้พิการ ได้แก่ โครงการประชุมให้ความรู้แก่สถานประกอบการ โครงการจัดทำฐานข้อมูลของการมีงานทำของนักศึกษาพิการ
“ในที่ประชุมยังได้หารือกันเกี่ยวกับปัญหาด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้บริการนักศึกษาพิการ ซึ่งทุกสถาบันมีปัญหาเช่นเดียวกัน คือขาดการกำหนดจัดสรรอัตราตำแหน่งของบุคลากรงานสนับสนุนนักศึกษาพิการ (DSS) ที่ชัดเจน และบุคลากรขาดความมั่นคงในวิชาชีพ ทั้งยังมีการลาออกของบุคลากรอยู่เสมอ และไม่สามารถจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาทดแทนได้ ซึ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานมีไม่เพียงพอ จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางกำหนดอัตรากำลังขั้นต่ำของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ ในสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาพิการศึกษาอยู่” ผศ.ดร.นิรัชรินทร์ กล่าวและว่า
การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรประจำศูนย์บริการนักศึกษาพิการแบบเข้ม (Intensive Program) ในปี 2551 ซึ่งมีบุคลากรจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 12 แห่ง เข้ารับการอบรมและปฏิบัติงานในศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการ (DSS: Disability Support Service) เป็นเวลาประมาณ 3 ปี 8 เดือน การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของบุคลากร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงประเด็นปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข ตลอดจนวางแผนพัฒนางานเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้พิการ โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาลัยราชสุดา) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม